ภัยแล้ง เป็นภัยที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดความแห้งแล้งและส่งผลกระทบต่อชุมชน สำหรับภัยแล้งในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากฝนแล้งและฝนทิ้งช่วง ซึ่งฝนแล้งเป็นภาวะปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติหรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล รัฐบาล โดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม พร้อมทั้งปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคทุกพื้นที่
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังได้รับรายงานจาก นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ว่า โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจระดับภูมิประเทศ(contour)ของอ่างเก็บน้ำห้วยขมิ้นและอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ ในพื้นที่ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด โดยนำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนเข้ามาใช้ในการสำรวจพื้นที่ครั้งนี้ พร้อมวางแผนเข้าปรับปรุงและพัฒนาอ่างเก็บน้ำดังกล่าวโดยการขุดลอกตะกอนดินภายในอ่างเก็บน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่การเก็บกักน้ำหากดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยได้อย่างยั่งยืน
ด้านนายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 ได้เปิดเผยถึงการเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาว่า ขณะนี้สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้ดำเนินการสูบน้ำจากสระหนองตะไก้ ตำบลกุดพิมาน ไปเติมยังสระน้ำวัดบ้านไร่ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 6 บ้านไร่ หมู่ 8 บ้านใหม่แสนสุข หมู่ 9 บ้านดอนใหญ่ และหมู่ 10 บ้านดอนน้อย ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด นอกจากนี้ ยังได้การดำเนินงานสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำฉมวก ตำบลหลุ่งประดู่ อำเภอห้วยแถลง ไปเติมน้ำให้กับสระน้ำหนองขามป้อม บ้านโนนหญ้านาง หมู่ 8 ตำบลหนองระเวียง อำเภอพิมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้เป็นอย่างมาก โดยจะดำเนินการไปจนถึงต้นฤดูฝนหรือจนกว่าจะมีฝนตกชุกสม่ำเสมอ จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด
กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถยนต์บรรทุกน้ำ ที่กระจายอยู่ตามโครงการชลประทานทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบกับปัญหาภัยแล้งได้ตลอดเวลา และแม้ว่าในช่วงสภาวะวิกฤติการระบาดของโรครัสโควิด-19 กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นภารกิจหลักเพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอไม่ขาดแคลน จนกว่าจะเช้าสู่ฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามมาตรการป้องกันความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่กรมชลประทานทุกระดับจากการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ด้วย
*************************
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
29 มีนาคม 2563