ก.แรงงาน แพคทีม ช่วยเหลือแรงงาน ฝ่าวิกฤตโควิด -19

ก.แรงงาน นำโดยดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน พร้อมผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ประชุม Conference รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ จากตัวแทนผู้ประกอบกิจการเขตภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19

วันที่ 27 มีนาคม 2563 ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน พร้อมผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ประชุม Conference จากห้องประชุมแสงสิงแก้ว ชั้น 5 ไปยังห้องประชุมสำนักงานแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ จากตัวแทนผู้ประกอบกิจการ โดยมีตัวแทนจากผู้ประกอบกิจการกลุ่มต่างๆ อาทิ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ประกอบกิจการโรงแรม ประธานสมาพันธ์รถตู้ภาคเหนือ นายกสมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ และสมาคมร้านอาหารจังหวัดเชียงใหม่ จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ส่งผลให้ผู้ประกอบกิจการและแรงงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจด้านการท่องเที่ยวหยุดกิจการชั่วคราว พนักงานต้องหยุดงานทำให้ขาดรายได้เพื่อใช้จ่ายในครอบครัว สำหรับพนักงานที่มีประกันสังคมจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 33 และมีแรงงานอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เข้าประกันสังคม เช่น ผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นมัคคุเทศก์ พนักงานขับรถตู้ พนักงานขับรถบัส เป็นต้น ตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมจึงขอให้กระทรวงแรงงานหามาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ด้วย ซึ่งจากข้อเสนอแนะต่างๆ กระทรวงแรงงานจะนำไปพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือต่อไป

ด้านนายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า นายกสมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ เสนอแนะให้ กพร. ดำเนินการจัดฝึกอบรมด้านภาษา เช่น ภาษาจีน เกาหลี รัสเซีย สเปนและอิตาลี เพราะในช่วงนี้มัคคุเทศก์มีเวลาว่างเนื่องจากนักท่องเที่ยวลดลงเป็นจำนวนมาก จึงสามารถที่จะพัฒนาทักษะและหาความรู้เพิ่มเติมได้ ซึ่งภาษาเป็นเรื่องจำเป็นมากเพื่อสื่อสารและสามารถอธิบายแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แก่นักท่องเที่ยว รวมถึงความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไทยและของจังหวัดเชียงใหม่ด้วย การฝึกอบรมดังกล่าวกพร.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถให้บริการแก่กลุ่มมัคคุเทศก์ได้ทันที ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่รับไปดำเนินการประสานและดำเนินการจัดฝึกอบรมให้ตามความต้องการ

นายธวัช กล่าวต่ออีกว่า สำหรับกลุ่มของพนักงานขับรถตู้และพนักงานขับรถบัส ประธานสมาพันธ์รถตู้ภาคเหนือได้ขอให้กพร.จัดฝึกอบรมเพิ่มทักษะทั้งด้านการบริการ และด้านการซ่อมบำรุงพาหนะ กพร.ก็สามารถดำเนินการฝึกอบรมให้ได้เช่นกัน กรณีที่แรงงานดังกล่าวกระจายอยู่ในจังหวัดอื่นๆ สามารถสมัครฝึกอบรมได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ นอกจากนี้ กรณีที่แรงงานได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ต้องการฝึกอาชีพเสริมด้านอื่นๆ อาทิ การประกอบอาหาร การทำขนม การตัดเย็บเสื้อผ้า สามารถสมัครฝึกอบรมได้เช่นกัน เพื่อนำความรู้ไปประกอบเป็นอาชีพอิสระได้ ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือกองสื่อสารองค์กร 0 2245 4035