“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไอกรนในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยแล้ว 19 ราย จาก 12 จังหวัด ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือแรกเกิด-4 ปี (52.63%) 55-64 ปี (10.53%) และอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป (10.53%) ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ตาก อุบลราชธานี บึงกาฬ นครสวรรค์ และชัยภูมิ ตามลำดับ โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ตามลำดับ”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้จะยังพบผู้ป่วยโรคไอกรนได้ และคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไอกรนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากข้อมูลการรายงานโรคพบว่าเด็กที่ป่วยด้วยโรคไอกรน ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสมาชิกในครอบครัวที่ไม่แสดงอาการป่วย โรคไอกรนเป็นโรคติดต่อที่สามารถพบได้ตลอดทั้งปี มักพบในเด็กแรกเกิด ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อจากการไอ จาม ของบุคคลที่มีเชื้อโรคในร่างกายทั้งที่มีอาการป่วยหรือไม่แสดงอาการ สามารถป้องกันได้ด้วยการรับวัคซีนตามเกณฑ์ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า ผู้ที่มีอาการไอ จาม ไม่ควรคลุกคลีกับเด็กแรกเกิด หากจำเป็นต้องใกล้เด็กควรสวมหน้ากากอนามัย หรือไม่ควรพาเด็กเล็กไปในสถานที่ชุมนุมหรือแออัด หากพบเด็กมีอาการไอเป็นชุดๆ ไอมาก หายใจไม่ทัน หรือไอมีเสียงวู๊ป ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที และขอแนะนำพ่อแม่ ผู้ปกครองให้พาบุตรหลานของท่านไปฉีดวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตามช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อลดอัตราการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 ”
************************************************
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 28 มี.ค. 2563