กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้ที่กักตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน เก็บอาหารสดในตู้เย็นให้ยึดหลัก 3 ส. ได้แก่ สะอาดปลอดภัย สัดส่วน สิ่งแวดล้อมเหมาะสม เพื่อรักษาคุณภาพและยืดอายุอาหารให้เก็บไว้ได้นาน ส่วนอาหารกระป๋อง ก่อนเลือกซื้อควรอ่านฉลากข้างกระป๋องให้ละเอียด ก่อนกินต้องอุ่นให้เดือดทุกครั้ง
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงที่สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ระบาด ประชาชนที่เป็นผู้กักตัวเองอยู่ที่บ้าน 14 วัน เพื่อเฝ้าระวังอาการ นอกจากจะไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับ ผู้อื่นแล้ว ต้องเลือกซื้ออาหารและปรุงประกอบอาหารที่สะอาดและปลอดภัย โดยการซื้ออาหารสด ประเภทเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผัก และผลไม้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ เครื่องดื่มชนิดต่างๆ มาเก็บไว้ในปริมาณพอเหมาะ เพื่อช่วยรักษาอาหารให้สดใหม่ ไม่เน่าเสีย อีกทั้งยังคงคุณค่าวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ขอให้ยึดหลัก 3 ส. ดังนี้ 1) สะอาดปลอดภัย โดยภาชนะบรรจุ และสถานที่เก็บอาหารต้องสะอาด ปลอดภัยไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารได้ 2) สัดส่วน ควรแยกประเภทอาหารเป็นสัดส่วนเฉพาะไม่ปะปนกัน และ 3) สิ่งแวดล้อมเหมาะสม จัดเก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท เพื่อรักษาคุณภาพและยืดอายุอาหารให้เก็บไว้ได้นานๆ
“โดยเฉพาะอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์ หากจะเก็บควรล้างให้สะอาดก่อนแล้วนำมาตัดแบ่งหรือหั่นเป็นชิ้นก่อนบรรจุในภาชนะที่ป้องกันการรั่วซึมได้ในปริมาณที่พอเหมาะกับการนำไปใช้ในแต่ละครั้ง แล้วจึงนำไปเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส แยกเป็นสัดส่วนจากอาหารประเภทอื่น ไม่ควรแช่เนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ๆ หรือทั้งตัวในตู้เย็น เนื่องจากความเย็นอาจจะไม่เพียงพอ ถ้าเป็นชิ้นเล็ก ขนาดเล็ก หรือชนิดบด ควรใส่ถุงพลาสติกแช่อยู่ในช่องแช่แข็ง นอกจากนี้ ควรหมั่นสำรวจวันหมดอายุของอาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็น และไม่ควรเก็บอาหารไว้มากเกินไป จนทำให้การถ่ายเทอากาศ ในตู้เย็นเป็นไปอย่างลำบาก” แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าว
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับอาหารปรุงสำเร็จบรรจุกระป๋อง ผลไม้และน้ำผลไม้กระป๋อง รวมทั้งเครื่องดื่มต่างๆ ที่สามารถเก็บไว้ได้นาน ก่อนเลือกซื้อควรอ่านฉลากข้างกระป๋องให้ละเอียดโดยต้องมี เลขสารระบบอาหารในเครื่องหมาย อย. (เลข 13 หลัก) สถานที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตวันเดือนปีที่หมดอายุ ลักษณะของกระป๋องต้องไม่บวม ไม่บุบบู้บี้ ไม่เป็นสนิม ตะเข็บกระป๋องต้องไม่มีรอยรั่วหรือเป็นสนิม นอกจากนี้ ก่อนกินอาหารทุกครั้ง ต้องอุ่นด้วยความร้อนให้เดือด และสามารถเพิ่มผักในอาหารกระป๋อง เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ต้มยำปลากระป๋อง น้ำพริกหนุ่มทูน่ากระป๋อง เป็นต้น ทั้งนี้ ห้ามอุ่นอาหารทั้งกระป๋องโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะเกิดอันตรายจากสารเคลือบหรือสารโลหะที่จะละลายปนมาในอาหารได้ ส่วนอาหารกระป๋องที่เปิดแล้วหากกินไม่หมด ต้องถ่ายใส่ภาชนะอื่นที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคและควรเก็บในตู้เย็น
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 27 มีนาคม 2563