สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ / พอช.ช่วยชุมชนลดพิษเศรษฐกิจจากไวรัส COVID-19 เตรียมพักหนี้บ้านมั่นคงทั่วประเทศอย่างน้อย 3 เดือน และไม่คิดดอกเบี้ยระหว่างการชำระหนี้ คาดมีผลสัปดาห์หน้า ครอบคลุมบ้านมั่นคง 480 กลุ่ม/องค์กร สมาชิกกว่า 50,000 ครัวเรือน นอกจากนี้ พอช.ยังร่วมกับภาคีเครือข่ายต่อสู้กับไวรัส COVID-19 โดยใช้พื้นที่ 1,300 ตำบลทั่วประเทศนำร่อง ขับเคลื่อนแผนเชิงรุก เพื่อป้องกัน ฟื้นฟู และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส ผู้ตกงานที่กลับคืนสู่ชุมชน รวมทั้งผลกระทบจากภัยแล้ง โดยการการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ผ่านโครงการและงบประมาณที่มีอยู่
ตามที่นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย เรียกร้องไปยัง รมว.พม. เพื่อให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด พักหนี้ให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าว เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ต้องตกงาน เนื่องมาจากการปิดงาน ทำให้ไม่มีรายได้ โดยขอให้พักการชำระหนี้อย่างน้อยเป็นเวลา 3 เดือน และเมื่อสถานการเข้าสู่ภาวะปกติให้ประกาศลดดอกเบี้ย 0% และยกเว้นค่าปรับล่าช้า หรือมาตรการอื่นๆ ที่เห็นว่าเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือประชาชนจะให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ชี้แจงว่า ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากวิกฤตไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยนั้น ในส่วนของ พอช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ เนื่องจากมีประชาชนที่มีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยได้ใช้สินเชื่อจาก พอช.เพื่อจัดทำโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศ โดยที่ผ่านมา พอช. ได้มีมาตรการการช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น การปรับงวดชำระคืนที่เหมาะสม การขยายระยะเวลาผ่อนชำระให้นานขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นจริงของชุมชน โดยการช่วยเหลือลักษณะนี้ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ปัจจุบันมีโครงการบ้านมั่นคงที่ใช้สินเชื่อจาก พอช. กระจายอยู่ทั่วประเทศ 480 กลุ่ม/องค์กร มีสมาชิกที่เป็นผู้มีรายได้น้อยประมาณ 50,000 ครัวเรือน
“จากสถานการณ์ปัจจุบัน สมาชิกชุมชนในโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยและมีอาชีพไม่แน่นอน ไม่มั่นคง ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัส COVID -19 แม้ว่าในขณะนี้จะมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากรัฐบาล แต่ก็ยังมีชาวชุมชนอีกไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการดังกล่าว พอช. เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของสมาชิกในชุมชน จึงเห็นว่าควรมีมาตรการพิเศษเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือองค์กรผู้ใช้สินเชื่อ โดยการพักชำระหนี้อย่างน้อย 3 เดือน และจะไม่คิดดอกเบี้ยในระหว่างการพักหนี้ให้กับลูกหนี้ในโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศ ครอบคลุมสมาชิกทั้งหมดที่ประสบปัญหา ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสถาบันฯ โดยคาดว่าจะมีผลในสัปดาห์หน้า” ผอ.พอช. กล่าว และชี้แจงว่า ขณะนี้เครือข่ายชุมชนโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศอยู่ในระหว่างการสำรวจข้อมูลความเดือดร้อนของสมาชิก ซึ่งอาจจะมีความเดือดร้อนแต่ละชุมชนไม่เท่ากัน เพื่อเสนอให้ พอช. พิจารณาช่วยเหลือตามความเหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยเฉพาะสินเชื่อ ‘โครงการบ้านมั่นคง’ โดยมีเจตนารมณ์ที่จะทําให้เกิดความมั่นคงในการอยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบท โดยการใช้สินเชื่อที่สามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาตามแผนของชุมชน นําไปสู่การสร้างความเข้มแข็ง โดยใช้เงินกองทุนของ พอช. เป็นเครื่องมือหรือกลไกสําคัญในสนับสนุนให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งทุนที่มีอยู่ในระบบ โดยให้ประชาชนที่เดือดร้อนรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในลักษณะต่างๆ เช่น การซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้านและชุมชนใหม่ การปรับปรุงบนที่ดินเดิม ซึ่งอาจเป็นที่ดินเช่าหรือที่ดินสาธารณะที่อยู่ในการดูแลของท้องถิ่น โดยให้สินเชื่อระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ ผอ.พอช.ยังกล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 พอช.จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีในท้องถิ่น เช่น สภาองค์กรชุมชนตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชน เครือข่ายบ้านมั่นคง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และภาคประชาสังคม ร่วมกันจัดทำแผนงานในการต่อสู้กับไวรัส COVID-19 โดยเน้นพื้นที่ปฏิบัติการในระดับตำบลและชุมชน เพราะชุมชนถือเป็นด่านหน้าที่จะต้องเผชิญกับวิกฤตในครั้งนี้
“ พอช.จะใช้กลไกต่างๆ ที่มีอยู่ทั้ง 77 จังหวัดร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น สปสช. สช. สสส. ลงไปทำงานในชุมชนในระดับตำบลร่วมกับท้องถิ่น เช่น รพ.สต. อสม. อบต. โดยมี 1.แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน เป็นแผนเชิงรุก เพื่อป้องกัน ฟื้นฟู และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID และ 2.แผนรับมือผลกระทบจากผู้ตกงานที่กลับคืนสู่ชุมชน รวมทั้งผลกระทบจากภัยแล้ง เช่น การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยในปีนี้ พอช.มีแผนการและงบประมาณที่จะดำเนินการได้เลยจำนวน 1,300 ตำบลทั่วประเทศ ผ่านโครงการและกลไกที่ พอช.มีอยู่ เช่น สภาองค์กรชุมชนตำบล โครงการบ้านมั่นคง บ้านพอเพียงชนบท พื้นที่ตำบลเศรษฐกิจและทุนชุมชน” ผอ.พอช.กล่าว