26 มี.ค.2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะไข่ไก่ว่า บางช่วงอาจล้นตลาด บางช่วงก็อาจขาดตลาด อย่างเช่นปีที่แล้วไข่ล้นตลาดถึงขั้นที่รัฐบาลจะต้องช่วยอุดหนุนการส่งออก โดยรัฐอุดหนุนเพื่อการส่งออกฟองละ 46 สตางค์ และช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ในประเทศด้วย แต่ในช่วงเวลานี้เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการที่เข้มข้นขึ้นของรัฐบาล ดังนั้นอาจทำให้พี่น้องประชาชนมีความกังวลว่าไข่จะขาดตลาด ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 วันนี้ ถึง 2-3 เท่า เช่นจากการสำรวจบางห้างสรรพสินค้าที่ปกติ 1 ส่วนใช้เวลาขาย 3 วัน แต่ที่ผ่านมาใช้เวลาเพียงวันเดียวก็หมด เพราะฉะนั้นจึงทำให้ขาดตลาดในบางช่วงบางเวลา แต่เมื่อดูตัวเลขการผลิตรวมโดยเฉลี่ย ยังถือว่าอยู่ในปริมาณเท่าหลายปีที่ผ่านมา คือวันละ 40 ล้านฟอง
สำหรับมาตรการของกระทรวงพาณิชย์นั้น จะเข้าไปดูในเรื่องการควบคุมราคาเพื่อไม่ให้มีการขายเกินราคา ขณะนี้ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์ม อยู่ที่ ประมาณฟองละ 2.80 – 2.90 บาท ดังนั้นเมื่อถึงมือผู้บริโภคจะอยู่ในช่วง 3.30 – 3.50 บาท แต่หากจำหน่ายราคาสูงกว่าราคาเฉลี่ยที่ควรจะเป็น ก็จะถือว่าเป็นการค้ากำไรเกินควร ซึ่งจะมีการจับกุมดำเนินคดีโดยเด็ดขาด
สำหรับกรณีหน้ากากอนามัย เป็นอุทธาหรณ์ที่ชัดเจนว่า คำพิพากษาศาลถึงขั้นจำคุกจริง และกรณีการขายสินค้าอุปโภคบริโภคในลักษณะค้ากำไรเกินควร รวมทั้งไข่ด้วย ก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งวันนี้ได้มีการพูดในที่ประชุมศูนย์อำนวยการโควิดในช่วงเช้าด้วยว่าจะได้ขอให้กระทรวงมหาดไทยสั่งการกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการปราบปราม จับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่กักตุนและขายสินค้าเกินราคา ค้ากำไรเกินควรโดยเร่งด่วน แม้แต่ในกทม. ด้วยก็ตาม
ขณะที่วันนี้ตนได้รับแจ้งว่าที่จังหวัดพิษณุโลก มีการจับกุมดำเนินคดีร้านที่จำหน่ายสินค้าเกินราคา ได้แก่บริเวณข้าง รร.พุทธชินราช อ.เมือง จ.พิษณุโลก ซึ่งขายไข่ไก่เบอร์ 2 ราคาแผงละ 140 บาท ฟองละ 4.70 บาท และจะดำเนินคดีกับร้านค้าทุกรายที่ขายสินค้าเกินราคา
“ต้องขอความร่วมมือ เพราะว่าขณะนี้เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์โควิด ที่ทุกคนเป็นทุกข์มากอยู่แล้ว หากมีการค้ากำไรเกินควร ก็เท่ากับเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ ซึ่งไม่สมควรที่จะให้เกิดขึ้นและหากพี่น้องประชาชนพบเบาะแสที่ไหน ก็ขอให้แจ้งมาที่ โทร. 1569 รวมทั้งสายตรวจของกระทรวงพาณิชย์ และสายตรวจของหน่วยงานป้องกันปราบปรามการกักตุนสินค้า และค้ากำไรเกินควรของระดับจังหวัดก็จะออกไปตรวจตราดำเนินการด้วย” นายจุรินทร์กล่าว
อย่างไรก็ตามเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์เร่งด่วนในเรื่องไข่ที่ขาดตลาดในช่วงระยะเวลานี้ เพราะมีการเพิ่มกำลังซื้อขึ้นหลายเท่า รวมทั้งอาจมีการส่งออกไปจำนวนหนึ่งด้วย ตนจะได้เร่งออกประกาศห้ามการส่งออกไข่ไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และจะทดลองมาตรการนี้เป็นเวลา 7 วัน เพื่อดูว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือไม่ หากยังไม่ดีขึ้นก็จะพิจารณาขยายเวลาอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็ได้มีการประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ จะไม่มีการอนุญาตส่งออกด้วย เพื่อให้สอดประสานเป็นแนวเดียวกันเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์นี้เป็นการชั่วคราวด้วย เพื่อให้มีปริมาณไข่สำหรับการบริโภคภายในประเทศอย่างเพียงพอ
นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า สินค้าอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ก็จะมีการดำเนินคดีโดยเด็ดขาดเช่นเดียวกัน วันนี้เมื่อเวลา 11.00 น. มีการจับกุมกรณีขายเจลล้างมือในราคาแพงเกินควร ที่ร้านภูเก็ตโกรเซอรี่ จังหวัดภูเก็ต โดย สภ.ภูเก็ตได้ดำเนินคดีร้านดังกล่าว 2 คดี คือขายแอลกอฮอล์ 70% ยี่ห้อศิริบัญชา จากราคา 50-60 บาท แต่ขายในราคา 309 บาท
“ตอนนี้ในส่วนของเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ทั้งการเร่งการผลิตร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม รวมไปถึงเรื่องการนำเข้า ไม่ว่าจะเป็นหน้ากาก N95 PPE Lab test หรือในส่วนเวชภัณฑ์อื่นๆ ยกเว้นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ที่ขณะนี้สามารถผลิตได้ 2.3-2.4 ล้านต่อวัน ได้มีการจัดให้กระทรวงสาธารณสุขไปกระจายให้สถานพยาบาลทุกประเภท ทุกสังกัด ทั่วประเทศ จำนวนเพิ่มได้ถึง 1.3 – 1.5 ล้าน ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการรับหน้ากากของกระทรวงสาธารณสุข และแต่ละโรงพยาบาล เพราะขั้นตอนกระบวนการทางราชการบางครั้งก็มีขั้นตอน อาจทำให้ล่าช้า ติดขัดบ้าง โดยวันนี้ได้แจ้งปลัดกระทรวงกระทรวงสาธารณสุขให้เร่งดำเนินการในส่วนนั้นแล้ว เพื่อให้รับหน้ากากให้แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งผู้ป่วยไปใช้ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญลำดับต้นที่สุดที่จะต้องให้มีโอกาสได้ใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ส่วนที่เหลือซึ่งเดิมกรมการค้าภายในเป็นผู้บริหารจัดการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ก็จะมอบให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับไปดำเนินการ เหตุที่เป็นกระทรวงมหาดไทย เพราะหลังจากมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีอำนาจเกือบเบ็ดเสร็จในทุกเรื่องแล้ว ดังนั้นการจัดการเรื่องเวชภัณฑ์ป้องกันบางส่วน เช่นหน้ากากอนามัย ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการในเรื่องการกระจายหน้ากากในแต่ละจังหวัดได้ดีที่สุด เพราะจะเป็นผู้ที่รู้เรื่องในพื้นที่ดีที่สุดว่ากลุ่มเสี่ยงอยู่ที่ใดบ้าง”