พอช.จับมือเครือข่ายภาคประชาชนหนุนรัฐ ‘รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ สู้ภัย COVID-19’ ใช้ตำบลทั่วประเทศเป็นฐานขับเคลื่อน-ประสานเสียง “ประเทศไทยจะต้องชนะ”

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ฯ / สช.และภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘รวมพลังพลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19’ โดย พอช. ร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชนหนุนรัฐ  ใช้พื้นที่ตำบลขับเคลื่อน  ผ่านกลไกต่างๆ เช่น  สภาองค์กรชุมชนตำบล  กองทุนสวัสดิการชุมชน  รพ.สต.  อสม.  อบต. เทศบาล ฯลฯ  รวมพลังระดมทรัพยากรหนุนรัฐ  ขณะที่ พอช.ใช้พื้นที่ตำบล 1,300 ตำบลขับเคลื่อนทันที  ส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นมีการขับเคลื่อนป้องกันโรคและเฝ้าระวังแล้วกว่า 1,500 แห่ง  โดยทุกฝ่ายร่วมประสานเสียง “ประเทศไทยจะต้องชนะ”

cof

วันนี้ (26 มีนาคม) ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จังหวัดนนทบุรี  มีการจัดงาน ‘รวมพลังพลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19’  โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอแนวทางและมาตรการในการต่อสู้กับไวรัส COVID-19  มีการถ่ายทอดทาง Facebook Live ของ สช. โดยมีประชาชนและภาคีเครือข่ายทั่วประเทศติดตามการถ่ายทอดสดจำนวนมาก

นพ.ประทีป  ธนกิจเจริญ  เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)   กล่าวว่า  จากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19  ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในประเทศไทย  รัฐบาลจึงได้ประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน  โดยมีมาตรการที่สำคัญ  คือ  ห้ามไม่ให้ผู้ที่มีอายุ 70 ขึ้นไป  เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี  และผู้ป่วยออกจากบ้าน  เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส  แต่จุดชี้ขาดคือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชาชน  และมาตรการการป้องกันในพื้นที่  ซึ่งขณะนี้ในหลายพื้นที่กำลังดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม  ผลกระทบต่างๆ ที่จะติดตามมา  เช่น  ด้านการแพทย์  การรักษาพยาบาล  ด้านสังคม  มีการปิดงาน  ทำให้มีประชาชนเดินทางกลับชนบทจำนวนมาก  ซึ่งมีโอกาสที่จะมีการแพร่เชื้อ  โดยเฉพาะผู้สูงอายุ  คนป่วยเรื้อรัง  เด็ก  ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อ  ดังนั้นหน่วยงานยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพในส่วนกลาง  เช่น  สปสช.  สช.  สสส.  จึงร่วมมือกับหน่วยงานด้านสังคม  เช่น  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หน่วยงานปกครองท้องถิ่น  สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  ฯลฯ

“หน่วยงานเหล่านี้จึงได้บูรณาการแผนงาน  เครื่องมือ  และงบประมาณ  เพื่อหนุนช่วยการทำงานในพื้นที่ให้เกิดการขับเคลื่อน  จากประชาชนที่ตกอยู่ในภาะที่ตื่นกลัว  ให้ปรับเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้   โดยจะใช้พื้นที่ตำบลเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์  เป็นพื้นที่และฐานดำเนินงาน   โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง  มีหน่วยงานต่างๆ จากส่วนกลางช่วยหนุนเสริม  เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแล  และป้องกันตัวเองได้  โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะติดเชื้อ  เช่น  ผู้สูงอายุ  ผู้ป่วยเรื้อรัง”  เลขาธิการ สช.กล่าว

นายปฏิภาณ  จุมผา  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’กล่าวว่า  สถานการณ์ไวรัส COVID-19  เป็นเรื่องใหญ่  เป็นโจทย์ของมนุษยชาติ  ทุกฝ่ายจึงต้องรวมพลังกัน  ซึ่งในส่วนของ พอช.ทำงานในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ  มีเครือข่ายต่างๆ  เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชนที่จัดตั้งทั่วประเทศแล้ว  จำนวน  5,997 กองทุน  มี เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศ  จำนวน  7,789  แห่ง   เครือข่ายบ้านมั่นคง  1,133  พื้นที่  และพื้นที่เศรษฐกิจและทุนชุมชน   500 ตำบล  ฯลฯ   จึงได้มีการประชุมผู้แทนเครือข่ายเหล่านี้ในการรับมือกับภัย COVID  ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  เพื่อจัดทำหน้ากากอนามัยป้องกันการติดเชื้อร่วมกับ รพ.สต.  อสม.  อบต.  ฯลฯ  ขณะนี้ทำไปแล้วใน 43 จังหวัด  ผลิตได้แล้ว  487,035  ชิ้น

“นอกจากนี้ พอช.จะใช้กลไกต่างๆ เหล่านี้ที่มีอยู่ทั้ง 77 จังหวัดร่วมมือกับภาคีเครือข่าย  เช่น  สปสช.  สช.  สสส. ลงไปทำงานในชุมชนในระดับตำบลร่วมกับท้องถิ่น  เช่น  รพ.สต.  อสม.  อบต.  โดยมี 1.แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน  เป็นแผนเชิงรุก  เพื่อป้องกัน  ฟื้นฟู  และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID  และ 2.แผนรับมือผลกระทบจากผู้ตกงานที่กลับคืนสู่ชุมชน  เช่น  การสร้างอาชีพ  สร้างรายได้  โดยในปีนี้ พอช.มีแผนการและงบประมาณที่จะดำเนินการได้เลยจำนวน 1,300 ตำบลทั่วประเทศ  ผ่านโครงการและกลไกที่ พอช.มีอยู่  เช่น  สภาองค์กรชุมชนตำบล  โครงการบ้านมั่นคง  บ้านพอเพียงชนบท  พื้นที่ตำบลเศรษฐกิจและทุนชุมชน”  รอง ผอ.พอช.กล่าว

นายธนชัย  อาจหาญ  หัวหน้าสำนักสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคม  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  จากการพูดคุยของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการใช้พลังชุมชนต่อสู้กับภัย COVID-19 เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมาที่ สช.  มีประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการในระดับพื้นที่   คือ 1. การสื่อสารข้อมูลจากส่วนกลางลงไปในพื้นที่ตำบล  2.การสนับสนุนให้เกิดวงพูดคุยเพื่อสานพลังในระดับตำบลหรือเทศบาล  โดยมีผู้เข้าร่วมจากสภาองค์กรชุมชน  รพ.สต.  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ  เพื่อนำไปสู่การสำรวจข้อมูล  การคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้า-ออกชุมชน  การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง  การให้ความช่วยเหลือต่างๆ

“ในระดับพื้นที่จะต้องนำข้อมูลจากการสำรวจมาวิเคราะห์ร่วมกัน  เพื่อแยกแยะประชาชนกลุ่มเสี่ยง  กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง  กลุ่มคนตกงาน  เพื่อนำไปสู่การออกแบบการให้ความช่วยเหลือให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย  หรือออกมาตรการทางสังคมในพื้นที่  เช่น  การห้ามคนเข้า-ออก เข้ามาแล้วต้องเฝ้าระวังอย่างไร?  เพื่อนำมาเป็นแผนปฏิบัติการร่วมกัน  โดยมีหน่วยงานในระดับอำเภอ-จังหวัดให้การสนับสนุน  เป็นการสานพลังของทุกภาคส่วน  ในขณะที่ พอช.จะมีส่วนในการสนับสนุนผ่านโครงการและงบประมาณที่มีอยู่  เช่น  ใช้สภาองค์กรชุมชนขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจ  การสร้างอาชีพรองรับ  การสร้างศูนย์ดูแลผู้ป่วย”  นายธนชัยยกตัวอย่างการรวมพลังของทุกภาคส่วน

นายสมเกียรติ  พิทักษ์กมลพร  ผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อนนโยบายระดับพื้นที่  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า  ขณะนี้ภาครัฐมีมาตรการจัดการกับปัญหาไวรัส COVID-19 เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ  แต่หากภาคประชาชนปล่อยให้ภาครัฐดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวคงจะไม่สำเร็จ  จะต้องใช้พลังทางสังคมหรือภาคประชาชนเข้าไปหนุนเสริม  ซึ่งวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อสร้างพลเมืองตื่นรู้ในระดับพื้นที่  และจะต้องขยายไปทั่วประเทศ  โดยเฉพาะในระดับตำบล  เพื่อให้เกิดพื้นที่ปฏิบัติงานในระดับตำบล  โดยมีภาครัฐช่วยหนุนเสริม  เช่น  คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด  คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.)  รพ.สต.  อสม.  และภาคประชาชนสังคม  ประชาชนทั่วไปมาร่วมกันสานพลัง

นายสมเกียรติกล่าวด้วยว่า  การจัดเวทีพูดคุยในระดับตำบลเพื่อแก้ไขปัญหา COVID จึงมีความสำคัญ  เพื่อให้รู้สถานการณ์ว่า  ขณะนี้ในระดับพื้นที่ตำบลกำลังทำอะไร  และจะทำอย่างไร  เช่น  การเฝ้าระวังการติดเชื้อในระดับชุมชน  ครอบครัว  และบุคคล  คนป่วย  ผู้สูงอายุ  เด็ก  และคนตกงานที่กลับสู่ชุมชนจะช่วยอย่างไร  เพื่อให้เกิดข้อตกลงร่วมกัน  ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มใช้ธรรมนูญตำบลมาสู้กับภัย COVID แล้ว  เช่น  ยโสธร  นครราชสีมา ฯลฯ  และสามารถใช้เงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลหรือท้องถิ่นมาใช้ขับเคลื่อนได้

ทั้งนี้ข้อมูลจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) สปสช.  ระบุว่า  ปัจจุบันมีองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศที่มีการจัดตั้งกองทุน กปท.ร่วมโครงการ ‘พลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา 2019’ แล้ว 1,579  แห่ง  รวม 2,267 โครงการ  ใช้งบประมาณรวม  162.85 ล้านบาท  เพื่อ 1.รณรงค์ให้ความรู้  2.จัดหาอุปกรณ์ป้องกัน  เช่น  หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ฯลฯ  3.คัดกรองกลุ่มเสี่ยง  4.ตรวจเยี่ยม  ติดตามกลุ่มเสี่ยงในชุมชน  5.เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น

ขณะที่ นายปฏิภาณ  จุมผา  รอง ผอ.พอช. กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า “สถานการณ์ตอนนี้   ตำบลคือพื้นที่สู้รบที่เราจะต้องเอาชนะ  และจะต้องปฏิบัติจริงและเริ่มทำทันทีตั้งแต่วันพรุ่งนี้  โดยใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน  เพื่อผ่านพ้นเรื่องนี้ไปได้  ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพลังชุมชนท้องถิ่น  และจะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญ”

นพ.ประทีป  ธนกิจเจริญ  เลขาธิการ สช.กล่าวย้ำเช่นกันว่า  “ภาคประชาชนจะใช้ฐานในระดับตำบลเป็นพื้นที่ขับเคลื่อน  เช่น  สภาองค์กรชุมชน  ชุมชน  รพ.สต.  อสม. ฯลฯ  โดยระดมกำลังและทรัพยากรที่มีอยู่มาหนุนช่วยภาครัฐ  และประเทศไทยจะต้องชนะ  และฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้”

                                                                ************