กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เป็นไปตามแผนฯที่วางไว้ พร้อมเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำน้อยอย่างใกล้ชิด วอนขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(25 มี.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 38,866 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 15,150 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 9,408 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 38 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 2,712 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน (25 มี.ค. 63) มีการใช้น้ำตามแผนฯไปแล้ว 13,608 ล้าน ลบ.ม.(แผนฯ 17,699 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 77 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำตามแผนฯไปแล้วประมาณ 3,666 ล้าน ลบ.ม.(แผนฯ 4,500 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 81 ของแผนฯ ส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น
สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม จังหวัดลำปาง อ่างเก็บน้ำกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง และอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะดำเนินการบริหารจัดการน้ำตามมาตรการบริหารจัดการน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนนี้ ซึ่งจะใช้มาตรการควบคุมการใช้น้ำ อาทิ การปรับลดการระบายน้ำให้สอดคล้องกับการใช้น้ำในพื้นที่ การปรับลดแรงดันน้ำประปาในช่วงกลางคืน การนำน้ำจากแหล่งน้ำข้างเคียงที่มีการสำรองปริมาณน้ำไว้ เช่น แก้มลิง หนองน้ำ สระน้ำ และการขุดเจาะบ่อบาดาล รวมทั้ง ขอสนับสนุนการทำฝนเทียมจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นต้น
ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยกำลังประสบกับภัยพิบัติโรคไวรัสโควิด 19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ แต่ภารกิจในการบริหารจัดการน้ำ ยังคงเดินหน้าตามแผนจัดสรรน้ำที่ได้กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พี่น้องชาวไทยมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างไม่ขาดแคลน จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมใจกันประหยัดน้ำ รู้คุณค่าของน้ำ รวมทั้งร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าวิกฤตทั้ง ภัยแล้งและไวรัสโควิด 19 ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
*************************************************************
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
25 มีนาคม 2563