กระทรวง อว. ผนึกพันธมิตร หนุนสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศรับมือโควิด-19 ด้วยนวัตกรรมการเรียนการสอนออนไลน์ ล่าสุดผนึกบนแพลตฟอร์มระดับโลกจากไมโครซอฟท์ให้นักศึกษาไทยทั่วประเทศ 2 ล้านคนใช้ฟรี ด้านหัวเว่ยมอบสิทธิส่วนลดโทรศัพท์มือถือ-แท็บเล็ต 10% สำหรับนักศึกษา พร้อมเดินหน้าหารือค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย จัดโปรโมชั่นโมบายดาต้าราคาย่อมเยา สนับสนุนนักศึกษาเรียนออนไลน์
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ขยายวงกว้างขึ้นทั่วโลก กระทรวง อว. ได้เล็งเห็นถึงความปลอดภัยที่เกิดขึ้นต่อนิสิต นักศึกษา บุคลากร และประชาชนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษา จึงมีการวางมาตรการในการรองรับสถานการณ์โควิด-19 ในส่วนของการดูแลนิสิต นักศึกษาของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยให้มีการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ 100% เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในพื้นที่สาธารณะและสถานศึกษา
ล่าสุด กระทรวง อว. ร่วมมือกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) โดยในการนำนวัตกรรมในการยกระดับการเรียนการสอนออนไลน์ โดยการใช้เครื่องมือเฉพาะทางแบบครบวงจรอย่าง แอปพลิเคชัน ไมโครซอฟท์ ทีมส์ กับบริการไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ 365 เอ 1 (Microsoft Office 365 A1) บนแพลตฟอร์มระดับโลกจากไมโครซอฟท์รองรับการใช้งานบนระบบคลาวด์แบบไม่จำกัดจำนวนผู้ใช้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยทั้ง 150 แห่ง และนิสิต นักศึกษาอีก 2 ล้านกว่าคน ได้ใช้โปรแกรมไมโครซอฟท์ ทีมส์ ในการเรียนการสอนออนไลน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้ซอฟต์แวร์ และนำมาใช้เป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะช่วยยกระดับให้การศึกษานอกสถานที่เป็นไปในรูปแบบที่มากกว่าการประชุมทางไกลผ่านวิดีโอทั่วไป
นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม ได้แก่ เอไอเอส ทรู ดีแทค และ แคท ในการจัดแพ็คเกจราคาพิเศษสำหรับโมบายดาต้าราคาย่อมเยา สำหรับครู อาจารย์และนักศึกษาสำหรับการเรียนออนไลน์อีกด้วย
ขณะที่บริษัท หัวเว่ย สนับสนุนในส่วนของอุปกรณ์ในการเรียนการสอน ด้วยการมอบส่วนลดพิเศษ 10% สำหรับนิสิต นักศึกษา และอาจารย์ โดยสามารถซื้อโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตผ่าน HUAWEI official online ในแอปพลิเคชั่นลาซาด้า เช่น HUAWEI Mate30 pro แท็บเล็ต รุ่น HUAWEI MediaPad M6 เป็นต้น ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม – 30 พฤษภาคม โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.lazada.co.th/shop/huawei-shop/ หรือเมื่อซื้อผ่าน JD Central Online มอบคูปองส่วนลดพิเศษ 2,000 บาท และผ่อน 0% 6 เดือนสำหรับ HUAWEI Matebook D15 R5
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ดังกล่าวได้ถือเป็นโอกาสอันดีในการยกระดับการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชน ในการยกระดับศักยภาพความสามารถการสอนผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มผ่านออนไลน์ และจากศักยภาพตรงนี้จะสามารถขยายไปสอนไปยังโครงการอื่นๆอีกด้วย
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญกับภาคการศึกษาและมุ่งมั่นสนับสนุนพัฒนาการเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะให้กับนิสิตนักศึกษาผ่านคณาอาจารย์ ด้วยการบูรณาการการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีแบบองค์รวมตลอดมา ดังจะเห็นได้จากความร่วมมือมากมายกับหน่วยงานด้านการศึกษาในประเทศไทย สำหรับความร่วมมือกับกระทรวง อว. นั้นเรามุ่งเน้นสนับสนุนเครื่องมือการเรียนรู้ทางไกล นั่นก็คือ ไมโครซอฟท์ ทีมส์ เพื่อการศึกษา (Microsoft Teams for Education) เป็นการส่งมอบเครื่องมือที่เราทำมาเพื่อยกระดับการเรียนการสอนโดยเฉพาะ เพราะการเรียนการสอนนั้นมีทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ซึ่งเครื่องมือนี้ไมโครซอฟท์ได้พัฒนามาเป็นระยะเวลายาวนาน ให้คุณครูทั่วโลกได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในแบบฉบับการสอนของตนเอง และได้รับฟีดแบคเพื่อการพัฒนามาโดยตลอด ด้วยเป้าหมายเดียวกันคือต้องการส่งผ่านความรู้ให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาให้ดีที่สุด ผมเชื่อว่าเมื่อเทคโนโลยีการเรียนการสอนผนวกกับความสามารถของอาจารย์ไทย จะช่วยขับเคลื่อนภาคการศึกษาของประเทศไทยให้ฝ่าฟันสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมทั้งยังสามารถปูแนวทางให้กับรุ่นต่อๆ ไปให้ประสบความสำเร็จได้ดียิ่งกว่าครับ”
สำหรับโปรแกรมไมโครซอฟท์ ทีมส์ เป็นแอปพลิเคชันเพื่อการสื่อสารและทำงานเป็นทีมที่รองรับการใช้งานในภาคการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ รองรับผู้เรียนได้สูงสุดถึง 5,000 คนต่อ 1 ห้องเรียน โดยสามารถสร้างห้องเรียนย่อย เพื่อแบ่งกลุ่ม หรือแบ่งหัวข้อการเรียนได้กว่า 200 ห้องย่อย แชร์เอกสารขนาดใหญ่ที่สุด 15GB ต่อไฟล์ และแก้ไขพร้อมกันได้สูงสุด 100 คน บนพื้นที่เก็บขนาดใหญ่ที่มอบให้ฟรี บันทึกการสอนเป็นวิดีโอ เพื่อดูย้อนหลังได้ภายใน 10 นาทีหลังจบการสอน และสามารถกำหนดตารางเวลาการเรียน การสอนได้ โดยผู้เรียนสามารถเข้าใช้งานได้จากทุกแพลตฟอร์มทั้ง ระบบปฏิบัติบัตรการวินโดวส์ (Windows), ระบบปฏิบัติการแมคโอเอส (MAC OS), ระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS), แอนดรอยด์ (Android) และบนเว็บไซต์ (Web Browser)