ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปทั่วทุกภูมิภาค และรัฐบาลได้มีมาตรการป้องกันและลดโอกาสในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลอดจนประชาชนมีความตื่นตัวซื้อประกันภัยโควิด-19 เป็นจำนวนมาก สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยในสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานและเจ้าหน้าที่ รวมถึงประชาชน ผู้ใช้บริการ จึงได้จัดประชุมทางจอภาพร่วมกับคณะผู้บริหาร คปภ.ที่ส่วนกลาง และผู้อำนวยการภาค ทั้ง 9 ภาค ในวันที่ 23 มีนาคม 2563 เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจยกระดับความรุนแรงขึ้น และวางแนวทางปฏิบัติในส่วนภูมิภาค ดังนี้
1.กำชับให้ผู้อำนวยการภาค กำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ. จังหวัด พนักงานและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องโดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตน ตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดในการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค เช่น ส่งเสริมให้มีการประชุมทางจอภาพ การจัดวางเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือในจุดบริการร่วม เว้นระยะห่างในการนั่งปฏิบัติงาน จำกัดจำนวนคนใช้บริการในแต่ละช่วง ทำความสะอาดสุขอนามัย เป็นต้น สำหรับการกำหนดแผนการทดสอบการปฏิบัติงานจากที่บ้าน (Work From Home) ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้อำนวยการภาค ทั้ง 9 ภาค โดยต้องสอดคล้องกับมาตรฐานของจังหวัดแต่ละจังหวัด และขอให้ผู้อำนวยการภาคทั้ง 9 ภาค ได้สื่อสารไปยังจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งในส่วนสถานการณ์ของจังหวัด และสถานการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข
2.สำหรับข้อมูลการประกันภัยไวรัสโควิด-19 ขอให้ตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่ อาทิ จำนวนผู้ทำประกันภัย ปัญหาของประชาชน ตรวจสอบการเปิด-ปิดที่ทำการของสาขาบริษัทประกันภัยในพื้นที่ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน และใช้ช่องทางในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลการประกันภัยไวรัสโควิด-19 โดยใช้สื่อประเภทต่าง ๆ เช่น Info graphic ถาม-ตอบ จากส่วนกลาง เพื่อประชาสัมพันธ์ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันให้แก่ประชาชน
3.การให้บริการประชาชนด้านต่าง ๆ อาทิ การรับเรื่องร้องเรียน การจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น การต่ออายุใบอนุญาตตัวแทน-นายหน้าประกันภัย การจัดสอบใบอนุญาตนายหน้าประกันภัย การอบรมตามหลักสูตรขอต่ออายุใบอนุญาตตัวแทน-นายหน้าประกันภัย ขอให้เตรียมความพร้อมโดยการคัดกรองผู้ขอรับบริการ และใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปฏิบัติงานสำหรับให้บริการประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ดังนี้
3.1 การรับเรื่องร้องเรียน ให้ตรวจสอบเรื่องระบบสารสนเทศ เพื่อรองรับเรื่องร้องเรียนทางออนไลน์โดยใช้ E-Mail กลางของสำนักงาน คปภ. ภาค/จังหวัด และต้องมีการคัดกรองตรวจสอบประวัติผู้ขอรับบริการ เนื่องจากกระบวนการในการรับเรื่องร้องเรียนจะต้องใกล้ชิดกับผู้ขอรับบริการ รวมถึงกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ให้ใช้ระบบการประชุมทางจอภาพ หรือส่งเอกสารโดยทางอิเล็กทรอนิคส์ไปยังคู่ความโดยตรง ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของอนุญาโตตุลาการ หากมีปัญหาให้ประสานงานมายังสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ต่อไป
3.2 ขอให้ชะลอ หรืองดการจัดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตไปก่อน เพื่อลดความเสี่ยงต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 โดยจะกำหนดให้มีการปิดระบบการสมัครสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทน-นายหน้าประกันภัย ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป โดยสำนักงาน คปภ. จะออกคำสั่งเพื่อกำหนดมาตรการในการปฏิบัติงานต่อไป
3.3 ปรับระบบการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น โดยใช้ระบบออนไลน์เข้ามารองรับ โดยผ่าน E-mail กลาง และสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จะแจ้งเวียน E-mail กลาง สำหรับใช้ในการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้สำนักงาน คปภ./จังหวัด ทราบและใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อมิให้กระทบต่อประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน
4.ขอให้เตรียมการประชาสัมพันธ์การเพิ่มความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551 และการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 โดยสามารถดำเนินการผ่านช่องทางต่าง ๆ ของจังหวัด ได้แก่ สถานีวิทยุ เว็ปไซด์ เฟสบุ๊ค เป็นต้น
“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นและยังคงมีความต่อเนื่อง ดังนั้น จึงขอให้สำนักงาน คปภ.ภาค และจังหวัดบูรณาการการทำงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งคณะผู้บริหาร คปภ. ทุกคน มีความห่วงใยและขอเป็นกำลังใจให้กับพนักงาน คปภ. และเจ้าหน้าที่ทุกคน รวมถึงครอบครัว ให้ผ่านพ้นวิกฤตสถานการณ์ดังกล่าว” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
…………………………………………………