กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผยความสำเร็จการการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ที่อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ตลอดระยะเวลา 4 วันมียอดสั่งซื้อและยอดจำหน่ายสินค้ารวมทั้งหมดกว่า 300 ล้านบาท
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงความสำเร็จของการจัดงานในครั้งนี้ว่า ในทุกๆปีงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ จะจัดขึ้นในช่วงปลายปี แต่ในปีนี้มีการเลื่อนการจัดงานมารวมกับงานครบรอบ 100 ปี การสาธารณสุขไทย ในภาพกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าร่วมชมงานประมาณ 100,000 คน มียอดการสั่งซื้อสินค้าจากการเจรจาธุรกิจร่วมกับกระทรวงพาณิชย์กว่า 290 ล้านบาทและยอดจำหน่ายสินค้าภายในงานเฉลี่ยวันละกว่า 10 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นมียอดเงินสะพัดจากการจัดกิจกรรมปีนี้ประมาณ 330 ล้านบาท
สำหรับพื้นที่การจัดงานแบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ปีนี้เน้นเรื่องเล่าจากอดีตถึงปัจจุบันของการนวดไทย สู่มรดกไทย มีการจำลองต้นกำเนิดการแพทย์แผนไทย การนวดไทยและฤาษีดัดตนจากวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้มาชมงานอย่างมากถือเป็นโซนที่มีเสน่ห์อย่างยิ่ง รวมถึงวัฒนธรรมพื้นบ้าน 4 ภาค นอกจากนี้พบว่าโซนบริการสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน เปิดรับผู้มาใช้บริการได้วันละ 200 ราย ตลอดการจัดงานให้บริการตรวจรักษา จ่ายยา และนวดฟรีแก่ประชาชนจำนวน 1,170 ราย ส่วนใหญ่มาด้วยโรคข้อ กระดูก เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ภูมิแพ้และอื่น ๆ ส่วนโซนผลิตภัณฑ์ มีการนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้รับรางวัล PMHA Award และผลิตภัณฑ์รางวัล Premium Award มาจัดแสดงภายในงาน รวมถึงนำเสนอนวัตกรรมที่พัฒนาพืชสมุนไพรสู่การใช้ประโยชน์ จากพืชสมุนไพรต่าง ๆ ที่มีการวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ในรูปยา เครื่องสำอาง และเสริมอาหาร
การจัดงานในปีต่อไป จะมุ่งเน้นการส่งเสริมความเชื่อมั่นในการใช้ผลิตภัณฑ์ และบริการการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก กระตุ้นการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประชาชน และทำให้ผลิตภัณฑ์เกิดการพัฒนาตัวอย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์ตามนโยบายของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก คือ “รู้จัก เชื่อมั่น ชอบ และใช้”ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย บริการการแพทย์แผนไทย และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย
กรมจะขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและของกรมโดยตรง ซึ่งมีทั้งทางด้านวิชาการ และการนำเสนอความก้าวหน้าของงานวิจัยต่าง ๆ พร้อมทั้งแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อเป็นการสร้างการยอมรับจาก ภาคประชาชน บูรณาการกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เช่น สถาบันการศึกษาต่าง ๆและสถานพยาบาล รวมถึง มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ของไทยให้เป็นที่ 1 ของภูมิภาคอาเซียน และเป็นผู้นำด้านการสมุนไพรอันดับต้นๆ ของทวีปเอเซียในระยะเวลา 5 -10 ปี