นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ เปิดเผยว่า ระดับราคาไข่ไก่จะเป็นไปตามกลไกตลาดเสมอ โดยการผลิตไข่ไก่ของไทยนั้น เป็นการรองรับการบริโภคในประเทศ มีผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย หรือรวมตัวกันในรูปแบบชมรมและสหกรณ์ ส่วนการส่งออกไข่ไก่นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อจำเป็นต้องระบายผลผลิตส่วนเกินให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภค เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพราคาไข่ภายในประเทศ โดยผู้ส่งออกไข่ไก่ของไทยต้องยอมส่งไข่ในราคาขาดทุน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับจีนและสหรัฐฯ จึงไม่มีใครอยากทำการส่งออกไข่ เพราะมันไม่ใช่การสร้างกำไร แต่เป็นการเสียสละเพื่อเกษตรกรและคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน
“ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกรในปัจจุบันอยู่ที่ฟองละ 2.60 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยพุ่งไปถึง 2.69 บาทต่อฟอง เกษตรกรทั่วประเทศต่างพยายามแก้ปัญหาร่วมกันด้วยการวางแผนการผลิตอย่างรอบคอบ เช่น การปลดแม่ไก่ยืนกรง และปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน การให้ผลผลิตของแม่ไก่จึงลดลง สวนทางกับการบริโภคที่มากขึ้นในช่วงที่หลายคนกักตัวอยู่บ้าน อาจทำให้ราคาไข่ไก่ปรับขึ้นเล็กน้อยตามกลไกตลาด อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกท่านมั่นใจว่าปริมาณไข่ไก่ในประเทศไม่มีทางขาดแคลน” นายสุเทพกล่าว
เมื่อพิจารณาจากวัฏจักรไข่ไก่ที่ราคามีขึ้นมีลงตลอดทั้งปี ในแต่ละปีจะมีช่วงที่ราคาไข่ไก่สูงเพียง 4-5 เดือน ขณะที่ช่วงที่ราคาตกต่ำมีมากถึง 7-8 เดือน ยังมีปัจจัยด้านต้นทุนการผลิต ภาวะโรค ปริมาณการเลี้ยงแม่พันธุ์ไก่ไข่ ฯลฯ เป็นตัวกำหนดราคาในแต่ละช่วง โดยเฉพาะเดือนมีนาคมนี้เป็นช่วงปิดภาคเรียนที่การบริโภคของนักเรียนจะต่ำลง เมื่อผนวกกับเหตุการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 เข้ามาทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวหายไป คนกินไข่หายไปจำนวนมาก ทำให้ปริมาณไข่เหลือล้นตลาด ราคาตกต่ำลงอีก เกษตรกรจึงวางแผนการผลิตด้วยการเข้าเลี้ยงแม่ไก่น้อยลง ทำให้ปริมาณไข่ไก่สมดุลขึ้น จึงเพิ่งเริ่มเห็นการขยับราคาขึ้นบ้าง ขอผู้บริโภคเข้าใจสถานการณ์
ทั้งนี้ จากสถิติราคาไข่ไก่ปี 2557-2562 ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเฉลี่ยต่ำกว่าต้นทุนมาโดยตลอด พบว่า ปี 2557 ขาดทุน 0.12 บาทต่อฟอง ปี 2558 ขาดทุน 0.14 บาทต่อฟอง ปี 2559 เป็นปีเดียวที่มีกำไรอยู่ที่ 0.06 บาทต่อฟอง ปี 2560 ขาดทุน 0.21 บาทต่อฟอง ปี 2561 ขาดทุน 0.30 บาทต่อฟอง เป็นที่มาของการร่วมกันสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ โดยมีคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือเอ้กบอร์ด (Egg Board) เป็นผู้ผลักดันการเดินหน้ามาตรการต่างๆ โดยขอความร่วมมือภาคเอกชนและเกษตรกรทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม ช่วยกันปรับสมดุลปริมาณไข่ไก่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโดยไม่ใช้งบประมาณของภาครัฐ./