วันที่ 22 มีนาคม 2563 แหล่งข่าวเปิดเผยว่า นางสาวอุษณี กังวารจิตต์ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เปิดเผยถึงประเด็นข้อห่วงใยและข้อควรปฏิบัติไปยังครอบครัวไทยเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ Covid-19 ซึ่งกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือสมาชิกในครอบครัวทุกคน
นางสาวอุษณี กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 รัฐบาลได้กำหนดมาตรการลดการแพร่ระบาดรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นพิจารณาการดำเนินการในด้านต่าง ๆ 6 ด้าน ได้แก่
1) ด้านสาธารณสุข 2) ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน
3) ด้านข้อมูล การชี้แจงและการรับเรื่องร้องเรียน 4) ด้านการต่างประเทศ
5) ด้านมาตรการป้องกัน 6) ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา
พม. มีภารกิจที่เกี่ยวข้อง 4 มาตรการ ตามข้อ 1) 2) 5) และ 6) ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ ประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการป้องกัน เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ Covid-19 แล้ว และผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องเฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน อยู่ที่บ้าน ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือสมาชิกในครอบครัว เพราะความเจ็บป่วยของสมาชิกในบ้านย่อมส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของสมาชิกในครอบครัวโดยตรง ทั้งความเครียดทางจิตใจ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพเพื่อให้สอดคล้องกับการควบคุมโรค การรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ และหากสถานการณ์การระบาดของโรคยังดำเนินต่อไปอีกเรื่อยๆ จะส่งผลต่อภาวะทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบกับหลายครอบครัวแน่นอน ดังนั้น ในภาวะเช่นนี้ ทุกครอบครัวต้องตั้งสติ เตรียมพร้อมรับมือกับสถานกา รณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างสม่ำเสมอและรู้เท่าทัน ใช้ความรักความเข้าใจของครอบครัวดูแลเอื้ออาทรกัน
นางสาวอุษณี กล่าวต่อไปว่า สค. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการสร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง ได้เล็งเห็นว่าการระบาดของโรคจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวไทยทั้ง 2 กลุ่ม ดังนี้
1.ครอบครัวที่อยู่ในภาวะปกติ ไม่มีสมาชิกที่ติดเชื้อหรือเป็นกลุ่มเสี่ยง ขอให้นำคำแนะนำและข้อปฏิบัติด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขมาใช้อย่างเคร่งครัด และมีข้อแนะนำ ดังนี้
1) ตั้งสติ อย่าตื่นตระหนกกับสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 เกินไป
2) ตระหนักในการดูแลป้องกันตัวเอง
3) สอนสมาชิกครอบครัวให้ใส่หน้ากากป้องกัน ทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน พกเจลหรือล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่ รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ งดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
4) ดูแลทำความสะอาดบ้าน เปิดให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
5) ไม่จำเป็นให้หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงหรือที่มีคนจำนวนมาก
6) งดงานสังสรรค์ ที่มีผู้คนจำนวนมาก
7) รักษาระยะห่าง เวลาคุยกับคนอื่นให้คุยห่างกัน 1.5-2 เมตร
8) ควรมีการดูแลสมาชิกที่เป็นผู้สูงอายุและเด็ก หรือคนที่มีโรคประจำตัว เป็นพิเศษ
9) หากสมาชิกมีไข้ให้แยกตัวและของใช้จากสมาชิกคนอื่น
10) ติดตามข่าวสาวและข้อปฏิบัติจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นระยะ
11) หากพบสมาชิกมีไข้ขึ้นสูงเกิน 37.5 องศาให้รีบพาไปพบแพทย์
12) หมั่นสังเกตอาการผิดปกติด้านสุขภาพของสมาชิกในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ
13) กรณีที่สมาชิกในครอบครัวจำเป็นต้องออกไปข้างนอก เมื่อกลับเข้าบ้านควรล้างมือและเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เรียบร้อยก่อน
14) พ่อแม่ควรทำตัวเป็นแบบอย่างให้สมาชิกในครอบครัวด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม โดยการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน ควบคู่การสร้างวินัยให้กับทุกคนในบ้านให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดเมื่อออกจากบ้านทุกครั้ง
นอกจากนี้ การปฏิบัติตามข้อแนะนำดังกล่าว ยังช่วยให้สมาชิกในครอบครัวสามารถใช้เวลาอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพและสร้างสรรได้ เช่นการทำความสะอาดบ้านให้ถูกสุขอนามัย สมาชิกในครอบครัวได้มีโอกาสใกล้กันมากขึ้น มีโอกาสได้พูดคุยหารือให้คำแนะนำการรับข่าวสารต่างๆ การป้องกันตนเองจากโรค หรือวางแผนสิ่งต่างๆ ร่วมกัน เป็นต้น
2. ครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นผู้ป่วยติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องเฝ้าระวัง นั่นคือ ครอบครัวที่มีผู้ป่วย Covid-19 หรือครอบครัวที่มีสมาชิกที่ต้องเฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ดังนี้
1) หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว
2) หยุดเรียนหรือทำงาน รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่บ้าน และอยู่ห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร
3) ปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอ จาม หากไม่มีกระดาษทิชชู ให้ใช้ต้นแขนด้านใน หรือข้อศอกตัวเองแทน สิ่งสำคัญคือ ห้ามไอ จาม ใส่ฝ่ามือตัวเอง
4) ห้ามกินอาหารและใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น รวมถึงควรแยกของใช้ส่วนตัว ไม่ใช่ร่วมกับอื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน ผ้าห่ม แก้วน้ำ เป็นต้น
5) แยกห้องนอน
6) ทำความสะอาดที่พักและของใช้
7) ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์
9) แยกขยะติดเชื้อ ทิ้งหน้ากากอนามัย หรือกระดาษทิชชู่ที่ใช้แล้วให้ถูกวิธี นั่นคือการทิ้งในถุงพลาสติก ปิดถุงให้สนิท มิดชิดก่อนทิ้งลงถังขยะที่ปิดมิดชิด และล้างมือด้วยสบู่และน้ำนานราว 15-20 วินาที หรือแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไปทันที
นอกจากนี้ ผู้ป่วยต้องสังเกตอาการของตัวเอง โดยการวัดอุณภูมิร่างกายทุกวัน ซึ่งควรจดบันทึกไว้เป็นประจำทุกวันด้วย หากมีไข้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ และหายใจเหนื่อยหอบ หรือมีอาการป่วยอย่างใดอย่างหนึ่งจากที่กล่าวมานั้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกับผู้ที่ต้องเฝ้าระวัง ควรล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในบ้านและรักษาระยะอยู่ห่างกันราว 1-2 เมตร หากต้องการที่จะกินอาหารร่วมกัน ควรจะแยกชุดอาหาร และนั่งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ทำความสะอาดที่พักและบริเวณต่างๆ อยู่เสมอ และต้องสังเกตอาการตัวเองด้วย ข้อปฏิบัติเหล่านี้ทุกคนในครอบครัวต้องให้ความร่วมมือและดูแลกันอย่างเคร่งครัด
นางสาวอุษณี กล่าวต่อไปว่า จากการระบาดของโรคซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพชีวิตและเศรษฐกิจโดยรวม หลายสถานประกอบการปิดตัวลง แรงงานบางส่วนกลับสู่ภูมิลำเนาต่างจังหวัด พม. ได้มีนโยบายให้เตรียมแผนรองรับด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพในระยะสั้น สค. โดยศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว ทั้ง 8 แห่ง ทั่วประเทศ นอกจากการร่วมผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนแล้ว ยังได้ปรับหลักสูตรการฝึกทักษะอาชีพ ให้เป็นระยะสั้นเพิ่มมากขึ้น มีการจัดทำหลักสูตรการฝึกอาชีพออนไลน์เพื่อเพิ่มทางเลือกในการฝึกอาชีพ และลดโอกาสการรวมกลุ่มกันของคนจำนวนมาก ที่สำคัญคือเป็นการสร้างโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ ฝึกทักษะอาชีพด้วยเวลาไม่นานและใช้เป็นทางเลือกในการหารายได้ เลี้ยงดูครอบครัว หรือใช้สร้างเป็นอาชีพใหม่ได้
ในช่วงเวลาที่วิกฤตินี้ หลายครอบครัวอาจประสบกับความตึงเครียด ดังนั้นต้องบริหารจัดการเวลาและความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดี สค. ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกครอบครัว ใช้ความรักความเข้าใจของครอบครัวเป็นพลังให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน นางสาวอุษณี กล่าวในตอนท้าย
—————————-