สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ (คน.) ประสานพลัง ดำเนินโครงการ ‘พลังประชารัฐ พัฒนาข้าวไทย’ ลงพื้นที่จัดสัมมนาเสริมสร้างความรู้และชี้แจงมาตรการข้าวของรัฐบาลแก่เกษตรกรภาคกลาง ณ ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.เดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี หลังจากที่ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากเกษตรกรเหนือตอนบนในการเปิดโครงการเมื่อเร็วๆนี้
โครงการ ‘พลังประชารัฐ พัฒนาข้าวไทย’ เป็นหนึ่งใน 4 มิติ ของการขับเคลื่อนพัฒนา ‘เพื่อข้าว- เพื่อชาวนา -เพื่อการค้า และเพื่อประชาสังคม’ ของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งสมาคมฯ กิจกรรมในวันนี้ มีผู้ร่วมสัมมนาประมาณ 200 คนประกอบด้วยผู้แทนสภาเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ และกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ กลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการค้าข้าวและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพาะปลูกภาคกลาง อันได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ชัยนาท นครปฐม อยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง และอุทัยธานี
การสัมมนาภายใต้หัวข้อ “ราคาข้าว…ใครกำหนด” ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิได้แก่ นางสาวสุทัศนีย์ ราชเรืองระบิน รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นายวิจักร วิเศษน้อย อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายณรงค์ ชัยจิตรารัชต์ กรรมการผู้จัดการโรงสี N.P.S. Rice และที่ปรึกษาสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ร่วมเสวนา โดยมี นายสมชาติ สร้อยทอง ที่ปรึกษางานการพาณิชย์ภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ในโอกาสนี้ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นางสาวสุทัศนีย์ ราชเรืองระบิน ได้ชี้แจงถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่รัฐบาลจัดทำขึ้นเพื่อหวังผลในการชะลอผลผลิตที่ออกสู่ตลาดและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวให้เหมาะสม ตลอดจนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของเกษตรกร โดยแบ่งออกเป็น 3 โครงการหลัก อันประกอบด้วย 1. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ซึ่งเป็นการชะลอสินเชื่อข้าวเปลือกโดยให้เก็บเข้ายุ้งฉางของเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกร 2. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว โดยให้เกษตรกรรวบรวมข้าวจากสมาชิกเพื่อแปรรูปหรือจำหน่าย 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โดยให้ผู้ประกอบการโรงสีเก็บข้าวเข้าสต็อก ระยะเวลา 3-6 เดือน ทั้งนี้รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3
ในขณะที่ นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า “ในโอกาสฉลอง 100 ปีของสมาคมฯ นับเป็นโอกาสอันดีที่เราได้มาพบปะกับพี่น้องชาวนาโดยตรง ได้รับฟังปัญหา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเพื่อช่วยกันทำให้ข้าวไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ในขณะเดียวกันชาวนาก็จะได้รับรู้เรื่องสถานการณ์และข้อเท็จจริงเพื่อที่จะได้เตรียมพร้อมรับมืออย่างเท่าทัน เนื่องจากในปัจจุบันการส่งออกข้าวของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงมาก จะเห็นว่าทุกประเทศรอบบ้านเราล้วนแต่ส่งออกข้าวทั้งสิ้น เวียดนามส่งออกข้าวเฉลี่ยปีละ 7 ล้านกว่าตัน ในขณะที่กัมพูชาก็ปลูกข้าวที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เมียนมาก็มีปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและยังมีพื้นที่ปลูกข้าวอีกมหาศาลในแถบลุ่มน้ำอิระวดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินเดียที่ขณะนี้เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก เฉลี่ยแต่ละปีอยู่ที่ 12 ล้านตันซึ่งมากกว่าประเทศไทยที่มีการส่งออกราว 10 ล้านตันต่อไป
“วันนี้ชาวนาไทยเองก็ต้องเร่งปรับตัว เพราะหากถามว่าใครเป็นคนกำหนดราคาข้าวก็ต้องบอกว่าไม่มีใครไปกำหนดได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดโลกและการผลิตของเราที่ต้องให้สมดุลกัน เมื่อไหร่ที่มีของมากราคาก็ลดลง มีของน้อยแต่ความต้องการมากราคาก็สูงขึ้น ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำคือทำอย่างไรให้ต้นทุนการผลิตของเราต่ำที่สุด และทำอย่างไรให้ข้าวของเราเป็นที่ต้องการของตลาด คือคุณภาพต้องดีถึงจะแข่งขันได้ ไม่ใช่ทำแล้วขายราคาไหนก็ได้ ความคิดนี้ต้องเปลี่ยนไป พวกเราต้องช่วยกันทำยังไงให้ราคาข้าวพัฒนาให้มันดีกว่าใครๆทั้งหมดในโลก”
นายสมชาติ สร้อยทอง ที่ปรึกษางานการพาณิชย์ในประเทศจากกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า “รัฐบาลได้กำหนดมาตรการสินค้าเกษตร รวมทั้งมาตรการสินค้าข้าว เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาอย่างเป็นระบบ นำไปสู่เสถียรภาพของราคาสินค้าและรายได้ที่แน่นอนคุ้มค่ากับต้นทุนการผลิตของเกษตรกร อีกทั้งยังเตรียมความพร้อมเพื่อรับปัญหาเรื่องการแข่งขันทางการค้าที่สูงขึ้นโดยทำให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพและตรงความต้องการของตลาด การปกป้องผลประโยชน์ของตนเองให้ได้รับความเป็นธรรมในการจำหน่ายข้าวเปลือกไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ”
โครงการ “พลังประชารัฐ พัฒนาข้าวไทย” จัดขึ้นตามนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบประชารัฐ เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถด้านการผลิต การตลาด และการเงินของเกษตรกร รวมถึงการเรียนรู้ถึงกลไกตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมุ่งให้เกษตรกรเกิดความตระหนักถึงการปรับตัวด้านการผลิตและการตลาดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยผู้บริหารกรมการค้าภายในและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยร่วมกันจัดคณะลงพื้นที่ต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม- กันยายนนี้ เพื่อพบปะผู้แทนเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จาก 30 จังหวัด รวม 8 ครั้ง เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจนโยบาย หลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ ตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ตลอดจนให้ความรู้เรื่องสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้าข้าว กลไกตลาดทั้งในและต่างประเทศ
* * * * * * * * * *