วันที่ 20 มีนาคม 2563 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประกาศความร่วมมือกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เดินหน้าโครงการ “ต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ” สนับสนุนการบริหารจัดการขยะพลาสติกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสู่เป้าหมายการใช้ทรัพยากรของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รทว.ทส.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การดำเนินโครงการ “ต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ”ระหว่าง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปลัดกทระทรวง ทส.) และ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ กรุงเทพฯ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. กล่าวว่า ทส. มีพันธกิจหลักในการขับเคลื่อนและสนับสนุนนโยบายประเทศสู่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงรุกเพื่อความสมดุลและยั่งยืนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในการจัดระบบอนุรักษ์ฟื้นฟูและป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อพัฒนาทุกภาคส่วนให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) สร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดมลพิษ และลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศ ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีการนำพลาสติกและโฟมมาใช้มากขึ้นในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้น อาทิ ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หลอดพลาสติก เป็นต้น
พลาสติกถือเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวัน และมีแนวโน้มการใช้งาน มากขึ้น เนื่องจากพลาสติกมีคุณสมบัติเบา แข็งแรง ทนทาน และราคาถูก สามารถผลิตให้มีรูปแบบต่าง ๆ ตามที่ต้องการได้ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้าและทันสมัย ทำให้ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์พลาสติก หลากหลายรูปแบบและมีสีสันสวยงามให้เลือกใช้อย่างมากมาย ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นทำให้พลาสติก ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดขยะพลาสติกในปริมาณมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมืองและชุมชนขนาดใหญ่
มาตรการการจัดการขยะในหลายประเทศเป็นแบบองค์รวม มีทั้งกำกับ-บังคับ และ สนับสนุน-ส่งเสริม แต่หัวใจสำคัญของวาระแห่งชาตินี้ คือ ความร่วมมือของภาคีทุกภาคส่วน และเร่งหาต้นแบบโครงการตัวอย่างที่มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
ผ่านมา ทส. ได้มีการจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 เพื่อเป็นกรอบและทิศทางในการบริหารจัดการขยะพลาสติกของประเทศ และได้มีการขับเคลื่อนการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ การงดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วใน ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา มาตรการชายหาดปลอดบุหรี่ในพื้นที่ 24 จังหวัดชายทะเล การติดตั้งทุ่นลอยดักขยะปากแม่น้ำและคลองเพื่อลดปริมาณขยะลงทะเล และการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มหรือแคปซีล (Cap Seal) ทั่วประเทศ ซึ่งนับได้ว่าประสบผลสำเร็จ เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการขยายผลการดำเนินงานครอบคลุมทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการในการบริหารจัดการขยะพลาสติกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องต่อไป
ทส. จึงได้ร่วมมือกับ GC ดำเนินโครงการ “ต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ” สนับสนุนการบริหารจัดการขยะพลาสติกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ สู่เป้าหมายการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 การสร้างโมเดลแบบองค์รวมนี้ จะเป็นต้นแบบที่ดี ไม่เพียงแต่การแก้ปัญหาขยะ แต่การมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆ รวมถึงนักท่องเที่ยว และประชาชน ให้เกิดส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ได้ จะนำไปสู่ความเชื่อมั่นศักยภาพของประเทศไทย ในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก และเปลี่ยนจากวิกฤติเป็นโอกาส สร้างความเชื่อมั่นกลับคืนสู่ประเทศของเราต่อไป
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง ทส. กล่าวว่า กรอบความร่วมมือในการดำเนินโครงการต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ” ระหว่าง ทส. กับ GC มีระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่มีนาคม 2563 ไปจนถึง มีนาคม 2564 ประกอบด้วยความร่วมมือการดำเนินงานหลัก 3 ด้าน คือ 1) ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ ทดแทนการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งที่นำกลับมารีไซเคิลได้ยาก 2) ด้านการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ ตั้งแต่การคัดแยกขยะ การพัฒนานวัตกรรม สนับสนุนผลิตภัณฑ์รีไซเคิลหรืออัพไซเคิลจากความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่า และ 3) ด้านการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างวัฒนธรรมในการใช้และบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความรับผิดชอบร่วมกันในสังคม โดยจะมีการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดเป็นเป็นรูปธรรม
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GC ในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ ซึ่งยึดหลักการดำเนินธุรกิจด้วย Circular Economy โดยตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาการจัดการขยะ จึงได้อาสามาร่วมทำโครงการฯ GC กำหนดแนวปฏิบัติตามหลัก Circular Economy ให้กับพื้นที่อุทยานฯ สนับสนุนองค์ความรู้ และดำเนินงานร่วมกับองค์กรอื่น ๆ ในการจัดการขยะพลาสติกแบบยั่งยืน GC มีทางออกที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน (Total Solutions for Everyone) และสร้างระบบ (Platform) เพื่อแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ 1) Bio-based มุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ Bio Product ที่สลายตัวได้ด้วยการฝังกลบ 2) Fossil-based: มุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยความรับผิดชอบ นำขยะพลาสติกกลับมา Recycle หรือ Upcycle 3) Ecosystem: เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้พลาสติก เพื่อให้เกิดการขยายผลในวงกว้าง 4) Inclusiveness: GC จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้า SMEs ให้ปรับตัวกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค โดยมีแนวร่วมสำคัญจากพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ TPBI และ Farm D
GC คาดว่าโครงการนี้จะเป็นการสร้างต้นแบบโมเดลแห่งความสำเร็จระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น เพื่อขยายผลใน วงกว้างต่อไป
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า อส. มีภารกิจหลักในการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า โดยให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและจริงจังกับการจัดการขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาทั่วโลก ทั้งนี้ อส.ได้ประกาศห้ามนำโฟมเข้าพื้นที่อุทยาน-แห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2546 และในปี 2563 อส. ได้มีนโยบายที่จะยกระดับให้อุทยานแห่งชาติเป็นอุทยาน-แห่งชาติปลอดขยะ (zero waste national park) และความร่วมมือในการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ครั้งนี้ อส. ได้คัดเลือกอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินงาน และจะขยายผลไปยังอุทยานแห่งชาติ อีกจำนวน 14 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานทางบก 6 แห่ง ได้แก่ 1) อุทยาน-แห่งชาติอินทนนท์ 2) อุทยานแห่งชาติเอราวัณ 3) อุทยานแห่งชาติเขาสก อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก 4) อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 5) อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย 6) อุทยานทางทะเล 7 แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด 2) อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี 3) อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 4) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 5) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ 6) อุทยานแห่งชาติ ตะรุเตา 7) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ซึ่งคาดว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติต้นแบบให้กับอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศต่อไป
นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า คพ. มีบทบาทภารกิจในการกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการขยะพลาสติก ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของประเทศ พ.ศ. 2561 – 2573 โดยมีเป้าหมายที่ 1 คือ ลด และเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 3 ชนิด ในปี 2562 ได้แก่ แคปซีล พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ และไมโครบีด และ 4 ชนิด ในปี 2565 ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง โฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก(แบบบาง) และหลอดพลาสติก และเป้าหมายที่ 2 คือ การนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 โครงการต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ” เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy) ภายใต้ Roadmap ดังกล่าว ซึ่งจะสามารถขยายการดำเนินงานไปสู่พื้นที่อื่นๆ เพื่อสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของประเทศให้ก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป โดย คพ. พร้อมให้การสนับสนุนทางวิชาการในการดำเนินโครงการฯ ในการส่งเสริมการจัดเก็บและแยกขยะถุงและฟิล์มพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน (PE) และพอลิโพรไพลีน (PP) รวมถึงบริหารจัดการถุงและฟิล์มพลาสติกชนิด PE และ PP ให้เกิดมูลค่าเพิ่มเพื่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่อุทยานแห่งชาตินำร่องอย่างมีประสิทธิภาพ