กอปภ.ก โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก ในช่วงวันที่ 20 – 24 มีนาคม 2563 โดยประสานจังหวัดและศูนย์ ปภ. เขต ในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสภาพอากาศ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา และพิจารณาปัจจัยเสี่ยง พบว่า คลื่นอากาศในกระแสลมตะวันตกระดับบนจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีหย่อมความกดอากาศต่ำและมีความร้อนปกคลุม รวมถึงลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ ได้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคกลาง ทำให้เกิดพายุฤดูร้อน โดยมีลักษณะของฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ กอปภ.ก. จึงได้ประสานจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยง เตรียมพร้อมรับมือวาตภัย ฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ในช่วงวันที่ 20 – 24 มีนาคม 2563 แยกเป็น ภาคเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง 16 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครนายก ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่ง กอปภ.ก ได้กำชับให้หน่วยปฏิบัติในพื้นที่จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และแนวโน้มสถานการณ์ภัยต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รถปฏิบัติการ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ห้ามหลบพายุบริเวณใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการถูกล้มทับ ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป