บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ร่วมกับ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท มุ่งมั่นส่งเสริมโภชนาการที่ดีสู่น้องๆเข้าถึง “ไข่ไก่”อาหารโปรตีนคุณภาพ เรียนรู้ทักษะอาชีพจากโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน
“โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” เป็นโครงการที่ซีพีเอฟและมูลนิธิฯร่วมกันส่งเสริมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศให้มีโภชนาการที่ดีด้วยการบริโภคไข่ไก่ โดยปีนี้ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 30 แล้ว มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศ 824 โรงเรียน “โรงเรียนบ้านแสนสุข” ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เข้าร่วมโครงการฯ เมื่อปี 2562 ซึ่งปัจจุบันมีผลผลิตไข่ไก่ที่ส่งเข้าโครงการอาหารกลางวันนักเรียน และจำหน่ายให้แก่ชุมชน
นายบรรจรงค์ วรเศรษฐสุขศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแสนสุข กล่าวว่า โรงเรียนบ้านแสนสุขเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวนนักเรียน 136 คน เปิดการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 เด็กนักเรียน 70% เป็นชาวกัมพูชา และ 30 % เป็นเด็กไทย เป็นโรงเรียนชายแดนที่อยู่ในถิ่นกันดารติดประเทศกัมพูชา ทำให้มีบุตรหลานของชาวกัมพูชาเข้ามาเรียนที่โรงเรียน โดยโรงเรียนจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้ใช้ทักษะชีวิตสอดคล้องกับบริบทความเป็นอยู่ของนักเรียนและผู้ปกครองในท้องถิ่น เน้นการสอนที่นักเรียนสามารถนำไปประกอบอาชีพโดยจัดชั่วโมงสำหรับสอนอาชีพให้กับนักเรียนเพื่อให้สามารถนำความรู้ใช้ได้จริงในอนาคต และเน้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน มีการเลี้ยงปลา ปลูกพืชผักสวนครัว ดำนา เกี่ยวข้าว เป็นต้น
โรงเรียน ฯ ได้รับความช่วยเหลือจากซีพีเอฟและมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ในโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ สนับสนุนแม่พันธุ์ไก่ 100 ตัว งบประมาณในการสร้างโรงเรือนไก่ไข่ และสนับสนุนอาหารไก่ฟรีเป็นเวลา 1 ปี ผลผลิตไข่ไก่สามารถนำไปจำหน่ายให้โครงการอาหารกลางวันนักเรียน หากผลผลิตมีจำนวนมากก็จะนำไปจำหน่ายให้กับชาวบ้านในชุมชน รายได้จากการขายไข่ไก่นำเข้าเป็นรายได้ของโรงเรียน นอกจากนี้ ทางซีพีเอฟยังได้อนุเคราะห์จ้างผู้พิการที่อาศัยในชุมชนช่วยนักเรียนเลี้ยงไก่ไข่ ช่วยให้ผู้พิการมีงานทำและมีรายได้เลี้ยงตัวเอง
นายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯ มุ่งมั่นดำเนินโครง การที่เป็นตัวอย่างของความยั่งยืนในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยึดหลักความพอเพียง ซีพีเอฟร่วมมือกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงโปรตีนคุณภาพ คือ ไข่ไก่ และช่วยลดภาวะทุพโภชนาการของนักเรียน โดยซีพีเอฟสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่และปัจจัยการผลิต ทั้งพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ ให้แก่โรงเรียน ผ่านระบบสมาชิกโครงการฯ รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่สัตวบาลให้ความรู้ คำปรึกษาในการเลี้ยงและการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ถูกต้องตามหลักวิชาการและการสุขาภิบาล
ด.ญ.เนตรนภา โซ หรือ น้องเนตร อายุ 15 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งป็นชาวกัมพูชา เล่าว่า บ้านของเธออยู่ที่ อ.มาลัย ประเทศกัมพูชา ห่างจากโรงเรียนประมาณ 3 กิโลเมตร เนตรขี่จักรยานมาโรงเรียนทุกวัน นอกจากนี้ น้องชายและน้องสาวก็เรียนที่โรงเรียนเดียวกันด้วย เนตรสมัครใจช่วยกิจกรรมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯโดยมีหน้าที่ให้อาหารไก่ในช่วงเช้าของทุกวันและเก็บไข่ไก่ตอนบ่าย ไก่ที่เลี้ยงไว้ 100 ตัว เก็บไข่ได้ประมาณ 95 ฟองต่อวัน นำมาแยก ขนาดขายใส่ถาด ถาดละ 30 ฟอง ถ้าเป็นไข่ฟองเล็ก ขายถาดละ 80 บาท ฟองใหญ่ ขายถาดละ 90 บาท ส่วนหนึ่งนำไปขายให้โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เพื่อทำเป็นอาหารกลางวันให้นักเรียน ผลผลิตที่เหลือเด็กๆจะช่วยกันนำไปขายให้คนงานที่ทำงานในโรงงานเย็บผ้าซึ่งอยู่ใกล้กับโรงเรียน เงินจากการขายไข่ไก่นำเข้าบัญชีกองทุนของโรงเรียนเพื่อเป็นทุนในการดำเนินโครงการต่อไป
ด.ญ. นิดหน่อย ส่อด หรือ น้องนิดหน่อย อายุ 13 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เด็กนักเรียนชาวกัมพูชา เป็นอีกคนหนึ่งที่ช่วยกิจกรรมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ มีหน้าที่ช่วยเพื่อนๆเก็บไข่ไก่และนำไข่ไก่ไปขายที่โรงงานเย็บผ้า เธอบอกว่าได้เรียนรู้ทักษะอาชีพจากประสบการณ์ที่ได้รับที่สามารถนำไปใช้ได้ในอนาคต เพราะที่บ้านของนิดหน่อยก็เลี้ยงไก่ไว้ 30 ตัว แต่ไก่ที่เลี้ยงไว้ที่บ้านเลี้ยงแบบปล่อยตามพื้นดินและให้ข้าวสารเป็นอาหาร ต่างจากการเลี้ยงไก่ในโครงการฯ ที่เลี้ยงในโรงเรือนและให้อาหารไก่
ด.ช.จิรวัฒน์ จิตรสมัคร หรือน้องอุ้ม อายุ 13 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เด็กนักเรียนชาวไทย เล่าว่า ทำหน้าที่เก็บมูลไก่ในโรงเรือนเพื่อนำมาเป็นปุ๋ยใส่แปลงผักของโรงเรียน ทุก 2 สัปดาห์น้องอุ้มจะเก็บมูลไก่ในโรงเรือนเลี้ยงไก่ จากนั้นนำมูลไก่มาตากแห้งไว้ประมาณ 3 วัน หรือตากไว้ 3 แดด แล้วจึงนำมูลไก่ที่ตากแห้งแล้วมาผสมแกลบเพื่อเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้และแปลงผักของโรงเรียน หากทำปุ๋ยได้ในปริมาณมาก ก็จะช่วยกันนำมาบรรจุใส่กระสอบๆละ 3 กิโลกรัม ขายราคากระสอบละ 50 บาท ช่วยให้มีรายได้เข้ากองทุนฯของโรงเรียนอีกทางหนึ่ง