นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 18 กรกฎาคม 2561 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าว 20 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์และจีน ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 475 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 550 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
- ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 10 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 147 ล้านบาท ได้แก่ บริการให้กู้ยืมเงิน บริการทางบัญชี บริการรับจ้างผลิตผ้ามุ้งลวดสำหรับใช้ประกอบประตู บริการติดตั้ง ซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องจักรขึ้นรูปพลาสติก บริการพัฒนาระบบควบคุมการทำงานสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้ภายในรถยนต์ บริการตรวจสอบคุณภาพชิ้นส่วนรถยนต์ บริหารจัดการคลังสินค้า บริการให้พนักงานไปเป็นวิทยากรฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการประกอบเครื่องยนต์ โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์
- ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 4 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 116 ล้านบาท ได้แก่ บริการให้เช่า รถฟอร์คลิฟท์ รถลากพาเลทไฟฟ้า บริการบำบัดหรือปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม บริการติดตั้ง ซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ บริการส่งเสริมด้านการตลาด โดยเป็นคนต่างด้าว จากประเทศญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และหมู่เกาะบริติช เวอร์จิ้น
- ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาคเอกชน จำนวน 2 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 142 ล้านบาท ได้แก่ บริการตรวจวัดและรายงานแสดงภาพการก่อตัวของโคลนของหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม บริการออกแบบ จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ ก่อสร้าง ติดตั้ง และทดสอบโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม สำหรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ และจีน
- ธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีก/ค้าส่ง จำนวน 4 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 70 ล้านบาท ได้แก่ นายหน้าตัวแทนจัดหาลูกค้าเพื่อใช้บริการให้ใช้ช่วงสิทธิในซอฟต์แวร์ทางอุตสาหกรรม ตัวแทนจัดหาตลาดเพื่อการจำหน่ายแผงวงจรพิมพ์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ การค้าปลีกชิ้นส่วนและอะไหล่เครื่องกำเนิดไอน้ำอุตสาหกรรมการค้าส่งเบาะและที่นั่งสำหรับรถทุกประเภท โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศบาร์เบโดส ฟินแลนด์ และสหราชอาณาจั
การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการวางระบบโปรแกรมและการทำงานโดยรวมของระบบ SAP และ ERP องค์ความรู้ขั้นสูงเกี่ยวกับการบริหารจัดการและประสิทธิภาพการตรวจสอบประเมินปัญหาทางเทคนิคของเรือขนส่งขนาดใหญ่ องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาสารหล่อเย็นสำหรับเครื่องยนต์ รวมทั้งองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี และมาตรฐานการผลิตวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหาร และเครื่องสำอาง เป็นต้น
ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2561 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงจากเดือนก่อน 6 ราย คิดเป็นร้อยละ 23 ในขณะที่เงินลงทุนลดลง 1,047 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 69 เนื่องจากเดือนมิถุนายน 2561 มีผู้ได้รับอนุญาต ให้ประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง คือ บริการให้กู้ยืมเงิน บริการรับค้ำประกันหนี้ และบริการออกแบบ จัดหา ติดตั้งเครื่องมือสำหรับโรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น
อนึ่งในเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2561 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 160 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,498 ล้านบาท ในเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2560 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 163 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,300 ล้านบาท ซึ่งในปี 2560 ทั้งปี (มกราคม – ธันวาคม) คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 270 ราย และมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,302 ล้านบาท
*********************
ที่มา : กองบริหารการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ