เก็บความทรงจำระหว่างทางเชียงรายสัมผัสประวัติศาสตร์เชียงแสนทักทายท่าการค้าใหม่ที่เชียงของ
ถึงแม้จะล่วงเลยช่วงเวลาของความหนาวเหน็บในฤดูกาลแห่งการเดินทางท่องเที่ยวมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่กลิ่นอายของความประทับใจในดินแดนถิ่นทางภาคเองวิถีชีวิตหนือที่อบอวลไปด้วยเรื่องราวหลากหลายรายทางก็ยังติดตรึงในหัวใจ จนอดไม่ได้ที่จะนำมาเล่าให้ผู้อ่านไทยแลนด์พลัสได้อ่านกัน
ทั้งเรื่องการตะลอนทัวร์เมือง “เชียง” ทั้งหลาย การสัมผัสอากาศที่หนาวเหน็บเกือบศูนย์องศาเซลเซียสริมนํ้าโขง และการได้ไปเยือนเมืองประวัติศาสตร์อันสงบเงียบที่แอบซ่อนตัวอยู่กับผู้คนด้วยความเรียบง่าย
การเดินทางครั้งนี้เป็นการวางแผนอย่างคราวๆ แบบจางๆไม่ค่อยกำหนดเวลาที่แน่นอนเท่าไหร่ ด้วยเพราะไปอีกหนึ่งธุระด้วยเลยใช้เวลาเท่าที่มีเดินทางให้ได้เท่าที่จะไปได้ โดยผมใช้การเดินทางด้วยรถทัวร์จากกรุงเทพมุ่งหน้าสู่เมืองแรก “เชียงใหม่” ด้วยระยะเวลาเกือบ 10 ชั่วโมง กับความแตกต่างของอุณหภูมิ จากกรุงเทพที่ค่อนข้างร้อน ไม่ได้เตรียมพร้อมเรื่องเสื้อกันหนาวขึ้นรถไปด้วย
เพียงแค่ครึ่งทางก็เจอกับสภาพอากาศที่ดูท่าทางจะหนาวเหน็บ โชคดีที่ที่นั่งที่เลือกไว้แบบคู่กันไม่มีคนนั่งด้วย เลยถือโอกาสใช้ผ้าห่มแพ็คคู่ซะเลย กว่าจะถึงเชียงใหม่ ผลคือเหงื่อออกจนเปียกหลังไปเลย แต่ระหว่างทางใช้แอพพลิเคชั่นวัดอุณหภูมิแถวๆก่อนจะถึงเชียงใหม่ ในเวลาประมาณตี 5 กว่าๆ ก็ 8 องศาเซลเซียส ลงรถที่อาเขตได้ค้นหาเสื้อหนาวมาสวมในทันที
จากเชียงใหม่ เรามุ่งหน้าสู่เชียงราย ด้วยทางหลวงหมายเลข118 ผ่านหลากหลายสถานที่ท่องเที่ยว แวะชมกันอย่างสนุกสนาน ทั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตด้านการพัฒนาที่ดินที่ประชาชนสามารถเข้าไปเรียนรู้และฝึกปฏิบัติได้
แวะ “น้ำพุร้อนแมขะจาน” ตำบลแมเจดีย์ใหม่ ซึ่งเป็นจุดพักรถระหว่างทางเชียงรายกับเชียงใหม่ ที่นี่มีร้านอาหาร ร้านกาแฟร้านจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เครื่องประดับ ไม้แกะสลักและของที่ระลึกไว้บริการนักท่องเที่ยว และกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวนิยมกันเมื่อแวะที่นํ้าพุร้อนแห่งนี้คือ การต้มไข่ ซึ่งมีทั้งไข่ไก่และไข่นกกระทา สามารถต้มในบริเวณบ่อต้มไข่ที่จัดไว้ให้ ด้วยความร้อนประมาณ 80 องศาเซลเซียส ไข่จะสุกภายใน 3 นาที นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับนั่งแช่เท้า เพื่อความผ่อนคลายจากการเดินทางหรือจะใช้บริการอาบนํ้าแร่ก็มีให้บริการเช่นกัน ในจุดนี้หากขับรถจากจังหวัดเชียงใหม่ไปจังหวัดเชียงรายหรือจังหวัดพะเยานั้น นํ้าพุร้อนแม่ขะจานจะอยู่ฝั่งซ้ายมือ บริเวณ กม.64-65
ถึงเชียงรายในช่วงคํ่า ก่อนจะเข้าที่พัก เราแวะร้านกาแฟสวยๆ ริมแม่นํ้ากก ชื่อ “ร้านชีวิตธรรมดา” ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันเป็นอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวที่ใครไปเที่ยวเชียงรายต้องแวะไปร้านนี้ ร้านนี้อยู่ริมแม่นํ้ากก วิวดี ยิ่งตอนเย็นๆ ยิ่งสวย การตกแต่งร้านและสวนจะเป็นสไตล์ English Style ภายในร้านมีอยู่ด้วยกัน4 มุม ห้องแอร์ด้านใน เดินถัดซุ้มประตูไปหน่อยก็เป็นอีกมุมหนึ่งมุมนี้ค่อนข้างจะส่วนตัว เดินออกมาข้างนอกจะเป็นมุมสวน และมุมสุดท้ายจะอยู่ริมนํ้ากก เรียกได้ว่าทุกมุมน่ารักและน่านั่งไปหมด เจ้าของร้านเป็นอดีตแอร์สายการบิน และสามีชาวต่างชาติที่เป็นโปรกอล์ฟคอยต้อนรับ และบริการด้วยตัวเอง เครื่องดื่มมีให้เลือกหลายหลาย กาแฟนํ้าผลไม้ ไวน์ เค้ก หรือแม้แต่อาหารแสนอร่อยเมนูทานง่าย ทำง่ายก็มี นอกจากนี้ภายในบริเวณร้านยังมีส่วนด้านหน้าที่เป็นสปา นวดตัวขัดผิว นวดไทย และยังมีห้องซาวน่า และ ห้องไอนํ้าบริการสำหรับผู้มานวดด้วย การเดินทางจากเชียงราย ผ่านสะพานข้ามแม่นํ้ากกเจอไฟแดงแรกเลี้ยวซ้าย แล้วจะเจอซอยเล็กๆด้านซ้าย มีป้ายบอกชัดเจน ขับตรงไปเรื่อยๆจนเจอโรงแรมริมกก เลี้ยวซ้ายอีกทีก็เจอร้าน
ก่อนอาหารคํ่า เราเลือกที่จะไปแช่นํ้าพุร้อนโป่งพระบาทเพื่อผ่อนคลายความเหนื่อยล้าที่เดินทางทั้งวัน ความร้อนของนํ้าที่แช่กำลังสบาย ขณะที่อุณหภูมิข้างนอกเย็นลงอย่างรวดเร็ว ..และคืนนี้ก็นอนท่ามกลางเมืองหนาว 6 องศาเซลเซียสของคํ่าคืน
เช้าๆ ของเชียงรายในฤดูหนาว เป็นสีสันของเสื้อผ้ากันหนาวที่ผู้คนเดินขวักไขว่ โดยเฉพาะในตลาดที่คราครํ่าไปด้วยพ่อค้าแม่ค้าและผู้ซื้อ เครื่องดื่มร้อน ๆ เช่น กาแฟ โกโก้ นํ้าเต้าหู้ ขายดีแม้จะล่วงเลยมาเกือบ 9 โมงเช้า แต่อากาศก็ยังหนาวจับใจ
เราเดินทางต่อด้วยถนนสายเชียงราย-เชียงแสน แบบสบายๆ ไม่เร่งรีบนัก แวะร้านกาแฟ เพื่ออาหารเช้ากับกาแฟน่านั่งที่น้องสาวที่น่ารักแนะนำ ชื่อร้าน “พาราโบล่า” ซึ่งก่อนถึงร้านจะเห็นเจ้ากล่องแดง 3 ชั้น ซ้อนๆ กันอยู่ บรรยากาศภายในก็ดูเก๋ โมเดิร์นมีสไตล์ มีที่นั่งอย่างเพียงพอสำหรับคนที่มาเดี่ยว มาคู่ หรือมาเป็นแก็งค์ก็นั่งได้ ในส่วนของอาหารก็มีกาแฟ เค้ก นํ้าผลไม้ และมีพวกอาหารจานเดียวทั้งไทยทั้งฝรั่ง ให้เลือกทาน มี Wi-Fi Free อยู่แถวแม่จันก่อนถึงทางแยกไปเชียงแสนใครผ่านไปแถวนั้นก็แวะเวียนกันได้
การเดินทางท่ามกลางอากาศเย็น หนาวบ้างในบางช่วงตอนแม้แดดจะแรงแต่ก็เพิ่มความอบอุ่น สิ่งรอบกายรายทางในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยคือภาพที่เราได้สัมผัส ความหมายมีมากมายเกินกว่าที่เราจะมุ่งหน้าไปยังจุดหมายโดยเร็ว เพียงแค่มอง แวะเวียน และทักทายกำไรจากการเดินทางก็เกิดขึ้นแล้ว
เราเดินทางจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 59 กม. โดยแยกจากทางหลวง หมายเลข 110 ที่อำเภอแม่จันไปตามทางหลวงหมายเลข 1016 ประมาณ 31 กม.แล้วเราก็มาถึง “เมืองเชียงแสน” ก้าวแรกที่ลงจากรถและเหยียบลงบนพื้นของเมืองที่เงียบสงบแห่งนี้คือเรื่องราวของประวัติศาสตร์อันน่าค้าหา ด้วยบรรยากาศที่เงียบรายล้อมด้วยซากปรักหักพังของร่องรอยในอดีตที่เคยเฟื่องฟู
เราเริ่มต้นสัมผัสเมืองเชียงแสนด้วยการเข้าชม “พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงแสน” ที่ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมือง เป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ได้จากบริเวณเชียงแสนและพื้นที่ใกล้เคียงเช่น ลวดลายปูนปั้นฝีมือล้านนา พระพุทธรูปและศิลาจารึกจากเชียงแสนและจากพะเยา แหล่งรวมข้อมูลทางด้านวิชาการเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีการตั้งถิ่นฐานของชุมชน และประวัติการสร้างเมืองเชียงแสน นอกจากนี้ยังมีการจัด แสดงศิลปะพื้นบ้านของ ชาวไทยใหญ่ ไทยลื้อ และชาวเขาเผ่าต่างๆ ได้แก่ เครื่องเขิน เครื่องดนตรีเครื่องประดับ อุปกรณ์การสูบฝิ่น
เชียงงแสน เคยเป็น ศูนย์กลางอาณาจักรล้านนาในยุคแรก ๆ และเป็นเมืองเก่าแก่มากแห่งหนึ่งในภาคเหนือ เดิมชื่อเวียงหิรัญนครเงินยาง แม้ปัจจุบันยังมีซากกำแพงเมืองโบราณ 2 ชั้น และโบราณสถานหลายแห่ง ปรากฏอยู่ในทั้งในและนอกตัวเมือง ภายในเขตกำแพงเมืองเก่าประกอบด้วยวัดร้างและโบราณสถานที่สร้างในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-21 สลับกับบ้านเรือนชาวบ้าน
จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ติดกันเป็นวัดเจดีย์หลวง ฝั่งตรงข้ามจะเป็นศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวเชียงแสน จากจุดนี้สามารถไปเที่ยวชมโบราณสถานต่าง ๆ ได้ในรัศมีไม่เกิน 1.5 กิโลเมตรซึ่งสามารถรวบรวมไว้ได้ใน 1 วัน และเราตกลงว่าจะไปให้มากที่สุดเท่าที่จะไปได้ แต่พอได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ก็พบว่ามีวัดในเขตกำแพงเมืองทั้งหมด 76 วัด เราจึงเลือกที่จะไปวัดที่มีความสมบูรณ์และขนาดใหญ่เท่านั้น
“เชียงแสน” เมืองประวัติศาสตร์ที่ผสมผสานระหว่างอดีตกับปัจจุบันที่สำคัญ ปรากฏร่องรอยโบราณวัตถุโบราณสถานหลายแห่ง จากหลักฐานโบราณคดีสันนิษฐานว่า การสร้างเมืองคงเริ่มขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ตามที่ระบุไว้ในชุนกาลมาลีปกรณ์ และพงศาวดารโยนก เพราะศักราชดังกล่าวใกล้เคียงกันมากรวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องกันมาสัมพันธ์กับรูปแบบอายุสมัยของโบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นทั้งในและนอกตัวเมืองซึ่งมีอายุหลังกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ลงมาทั้งสิ้น
พ.ศ.2482 ทางราชการเปลี่ยนชื่ออำเภอเชียงแสนเป็นแม่จันและย้ายที่ทำการไปอยู่ที่แม่จันห่างจากที่ว่าการอำเภอเดิมประมาณ 30 กิโลเมตร ตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอนี้เรียกว่าเชียงแสนใหม่ หรือเชียงแสนแม่จัน ส่วนเมืองเชียงแสนนั้นมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอต่อมาในปี พ.ศ. 2500 จึงยกฐานะเป็นอำเภอเชียงแสน และรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะอำเภอเชียงแสนขึ้น โดยมอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินการ ปัจจุบันร่องรอยของโบราณสถานในอำเภอเชียงแสนที่หลงเหลือให้เห็น มักเป็นซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนา ได้แก่ เจดีย์ และวิหาร ซึ่งส่วนใหญ่มีรายชื่อปรากฏอยู่ในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน และมีวัดอยู่ทั้งสิ้น 140 วัด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่วัดในเมือง 76 วัด และวัดนอกเมือง 65 วัด การเรียกชื่อวัดต่าง ๆ ได้ยึดถือจากตำแหน่งที่ระบุไว้ในพงศาวดารล้านนาซึ่งเขียนขึ้นภายหลัง
ตำนานหรือพงศาวดารของเมืองเชียงแสน เป็นที่น่าสนใจกล่าวคือ “กลุ่มสิงหนวัติ” เป็นกลุ่มคนไทยกลุ่มแรก ที่เข้ามาสร้างบ้านแปงเมือง บริเวณที่ราบลุ่มแม่นํ้ากก ชื่อเมือง “โยนกนาคพันธสิงหนวัติ” มีกษัตริย์ผู้สืบเชื้อสายปกครองต่อๆ กันมา จนกระทั่งสมัยของพระเจ้าพรหมสามารถรวบรวมบ้านเมืองและขยายขอบเขตของแคว้นโยนกออกไปได้หลายพื้นที่ คือ เมืองไชยปราการ (เขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่) เมืองไชยนารายณ์ (เขตอำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย) และเวียงพางคำ (เขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย)จนกระทั่งเมืองโยนกล่มสลายลงต่อมาโดยการนำของพ่อบ้านชื่อ“ขุนลัง” ได้พากันออกไปสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นใหม่บริเวณปากแม่นํ้ากกขื่อว่า “เวียงปรึกษา”
ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ได้ปรากฏแคว้นหิรัญนครเงินยางโดยกลุ่มลาวจก ที่เชื่อกันว่าเป็น กลุ่มชน ที่อพยพมาจากภูเขาลงมาสร้างบ้านแปงเมือง บริเวณริมแม่นํ้าสาย ปกครองเมืองที่เคยเป็นเมืองโยนกเดิม แคว้นหิรัญนครเงินยางนี้มีผู้นำคือคือ “ขุนเจืองเป็นผู้นำ ที่ยิ่งใหญ่มีความสามารถรวบรวมและขยายขอบเขต ของแคว้นออกไปได้อย่างกว้างขวาง เมืองเชียงแสนเริ่มเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 มีพญามังรายกษัตริย์องค์ที่ 25 เชื้อสายราชวงศ์ลาวจก แห่งแคว้นหิรัญนครเงินยางสามารถยึดเมืองหริภุญไชย อันเป็นศูนย์กลาง อำนาจบริเวณแม่นํ้าปิง และได้สถาปนาเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็นราชธานี ของอาณาจักรล้านนา
เมื่อปี พ.ศ. 1879 และในระยะเวลาต่อมา พญามังรายได้ส่งพญาแสนภูผู้เป็นหลาน มาควบคุมดูแลเมืองบริเวณที่ราบลุ่มแมน้ำกก และแม่น้ำโขง โดยในระยะแรก พญาแสนภู เข้ามาพักชั่วคราวบริเวณปากแม่นํ้ากก (เชียงแสนน้อยในปัจจุบัน) ก่อน ต่อมาได้ช่วยสร้างเมืองเชียงแสนขึ้น ตรงบริเวณพื้นที่ที่เคยเป็นเมืองเก่าเดิม และทรงเล็งเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีตำแหน่งที่ตั้งทางชัยภูมิที่เหมาะสมแก่การทำกสิกรรม เพื่อเป็นเมืองท่าหน้าด่าน ที่คอยควบคุมดูแลการค้าขายตามลำนํ้าโขง พญาแสนภูโปรดให้ขุดคูและสร้างกำแพงเมืองล้อมรอบ 3 ด้าน คือ ด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันตก และด้านทิศใต้ส่วนด้านทิศตะวันออกใช้แม่นํ้าโขงเป็นปราการธรรมชาติ ส่วนกำแพงที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในปัจจุบันนี้สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยพญาสามฝั่งแถบ เมื่อประมาณ พ.ศ.1951 เมื่อครั้งที่พวกฮ่อได้ยกทัพมาตีล้านนาและเมืองเชียงแสน
ในระยะแรกเมืองเชียงแสนมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของแคว้นล้านนาจนถึงสมัยพญาติโลกราช(ประมาณ พ.ศ. 1985-2030)เมื่อกองทัพของกรุงศรีอยุธยาเข้ายึดเมืองเชียงใหม่และแคว้นล้านนาทั้งหมด เมืองเชียงแสน ตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของอยุธยาด้วย หลังจากนั้นล้านนาก็ต้องตกอยู่ในอำนาจของพม่าและเมื่อพระยาจ่าบ้าน (วิเชียรปราการ) ร่วมกับพระยากาวิละ โดยการสนับสนุนกำลังกองทัพจากกรุงธนบุรี สามารถกอบกู้เมืองเชียงใหม่และขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จในปี พ.ศ.2317 แต่พม่าก็ยังย้ายมาตั้งมั่นที่ เมืองเชียงแสนได้อีกในปี พ.ศ.2347 พระยากาวิละได้ให้พระยาอุปราช (อนุชา) ยกกำลังเข้าไปขับไล่พม่า โดยเผาลำลายเมืองและป้อมกำแพงเมือง รวมทั้งอพยพผู้คนออกจากเมืองเชียงแสนไปไว้ในที่ต่างๆ ในเมืองล้านนา
เราเดินไปชม “วัดป่าสัก” ที่อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเชียงแสนประมาณ 1 กม. วัดนี้อยู่นอกกำแพงเมือง ตามหลักฐานกล่าวว่า พระเจ้าแสนภูทรงสร้างเมื่อ พ.ศ. 1838 และให้ปลูกต้นสักล้อมกำแพง 300 ต้น วัดนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดป่าสัก” ภายในวัดมี โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงมณฑปยอดระฆัง ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นอันวิจิตร มีฐานกว้าง 8 ม. สูง 12.5 ม. เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุกระดูกตาตุ่มข้างขวาจากเมืองปาฏลีบุตร
จากนั้นมาชม “วัดพระธาตุเจดีย์หลวง” ตั้งอยู่ติดกับพิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติเชียง แสนด้านทิศตะวันออก สร้างโดยพระเจ้าแสนภู เมื่อประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 19 โบราณสถานประกอบด้วย เจดีย์ประธาน ทรงระฆังแบบล้านนา สูง 88 ม. ฐานกว้าง 24 ม. เป็นเจดีย์ใหญ่ที่สุดในเชียงแสน นอกจากนี้มี พระวิหารซึ่งเก่าแก่มากพังทลายเกือบหมดแล้ว และ เจดีย์ราย แบบต่างๆ 4 องค์
เราใช้เวลาในการตระเวนชมร่องรอยของสถาปัตยกรรมโบราณของเมืองเชียงแสนกว่าค่อนวัน ได้เห็นและเรียนรู้ถึงความศรัทธาที่คนโบราณมีให้แก่พระพุทธศาสนา และวิถีชีวิตที่ยึดโยงกับความเชื่อ จะเห็นว่าทุกหัวมุมของเมือง ทุกพื้นที่ในอาณาบริเวณกำแพงเมืองเชียงแสนจะเต็มไปด้วยวัดเก่าแก่ และคนในปัจจุบันก็สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างกลมกลืน อีกทั้งยังช่วยกันอนุรักษ์ดูแลให้สมบัติของชาติและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ยังคงอยู่คู่เมืองเชียงแสนต่อไป
ก่อนออกจากเชียงแสน เราไม่ลืมที่จะไปเยือนแม่นํ้าโขงที่ไหลผ่านมาจากสามเหลี่ยมทองคำที่อยู่เหนือขึ้นไป ซึ่งเราตกลงกันว่าจะไม่ไปเยือน เพราะมีจุดหมายปลายทางอีกเมืองหนึ่งสำหรับการเดินทางก่อนคํ่าคืนนี้
บ่ายแก่ๆ เรามุ่งหน้าจากเมืองเชียงแสนไปตามถนนที่ลัดเลาะขนานไปกับแม่นํ้าโขง มุ่งสู่เมืองเชียงของ อันเลื่องลือถึงเมืองท่องเที่ยวที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน นั่นคือ “เมืองเชียงของ” โดยที่ยังไม่รู้จุดหมายของสถานที่พักผ่อนท่ามกลางอากาศที่เริ่มเย็นลง
ระหว่างทาง เราแวะสักการะ “วัดพระธาตุผาเงา” ที่ตั้งอยนู่ อกเมอื งทางทศิ ใต้ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเชยี งแสนไปตามเส้น ทางเชียงของ – เชียงแสน ประมาณ 5 กิโลเมตร อยู่ตรงข้ามโรงเรียนบ้านสบคำ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม มีเนื้อที่ประมาณ 143 ไร่ สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระธาตุผาเงา เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็กตั้งอยู่บนก้อนหินใหญ่ ซึ่งบูรณะขึ้นใหม่ แต่เดิมเป็นวัดร้าง ชาวบ้านสบคำต้องการย้ายวัดสบคำจากที่เดิมที่ถูกแม่นํ้าโขงกัดเซาะพังทลาย จึงมาฟื้นฟูวัดร้างนี้ขึ้นเป็นวัดดังเดิม พ.ศ.2521 วิหารหลังปัจจุบันสร้างทับวิหารเดิม ภายในวิหารแห่งนี้ได้พบพระพุทธรูปปูนปั้น บริเวณหน้าตักพระประธานที่เรียกว่า หลวงพ่อผาเงา เมื่อวันที่17 มีนาคม 2519 สือบเนื่องมาจากตอนที่ คณะศรัทธา วัดพระธาตุผาเงาจะทำพิธียกพระประธานขึ้น เพื่อทำการบูรณะ ระหว่างการดำเนินการได้ ค้นพบพระพุทธรูปดังกล่าวถูกฝังใต้ฐานชุกชีพระประธานใหญ่ พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัยพระพักตร์รูปไข่ พระหนุเป็นปม พระรัศมีเป็นเปลว แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 บนเขาด้านหลังวัด เป็นที่ตั้งของพระบรมนิมติเจดีย์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อร่วมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทยโดยมีท่านผู้หญิงอุศนา ปราโมช เป็นประธาน พร้อมคณะศรัทธาอีกหลายท่าน นอกจากนี้ บนยอดเขายังสามารถมองเห็นทัศนียภาพอันสวยงามของตัวเมืองเชียงแสนได้โดยรอบ
ก่อนคํ่าเราแวะไร่ชาอันสวยงามบนเส้นทางสลับซับซ้อนและคดโค้งอันเนื่องจากภูเขาเลียบแม่นํ้าโขง ไร่ชา “TEA CHER”จิบกาแฟอุ่นๆ ท่ามกลางขุนเขาและไร่ชาสวยงาม เจ้าของร้านใจดีชงชาให้เราได้ชิมในหลากหลายรสชาติ เรียกได้ว่าประทับใจที่สุด
ไม่นานก่อนพระอาทิตย์อัสดง เรามาถึงเมืองเชียงของและหาที่พัก ก่อนที่จะหนาวไปมากกว่านี้ อุณหภูมิก่อนรับประทานอาหาร 12 องศาเซลเซียส ตกดึกลดลงเหลือ 4 องศาเซลเซียส แต่บรรยากาศช่างดีเกินกว่าจะรีบนอน จึงเดินดูวิถียามเย็นและคํ่าคืนของเมืองเชียงของและมองข้ามแม่นํ้าโขงไปยังฝั่งตรงข้าม คือ เมือง“ห้วยทราย” สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมืองที่คึกคักด้วยนักท่องเที่ยวและด่านการค้าที่สำคัญของ ไทย-ลาว ที่สำคัญเมืองเชียงของได้เปิดสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว ไปไม่นาน จึงยิ่งทำให้เมืองแห่งนี้กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง…
หนาวๆ อย่างนี้ มีใครอิจฉาการเดินทางของเราบ้างการเดินทางที่ไม่ต้องรีบร้อนและไม่มีที่สิ้นสุด เราได้เก็บเกี่ยวสิ่งรอบข้างรายทาง อันเป็นกำไรที่หาได้ง่ายๆ ที่คนที่อยู่กับที่ไม่อาจประสบพบเจอ ถ้าอยากเห็นอยากเจอจะมัวยึดโยงตนเองกับที่ไปใยออกไปเดินทางกัน…