วิศวะมหิดล ชวนน้องปลูกผักด้วยจักรยาน…เพื่อมื้อกลางวันร.ร.บ้านหอมเกร็ด

ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ แปลงผักขนาดกลางเขียวชอุ่ม ชุ่มฉ่ำด้วยน้ำจากการปั่นจักรยานรดน้ำแปลงเกษตรของนักเรียนโรงเรียนบ้านหอมเกร็ด ที่ผลัดเวรกันมาดูแลผลผลิตเพื่อมื้อกลางวันแสนอร่อยและปลอดจากสารเคมี

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แนวคิดปลูกผักด้วยจักรยาน มาจากการผสมผสานวิศวกรรมศาสตร์มาใช้ในแปลงเกษตร โดยฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะวิศวะมหิดล ร่วมกับ โรงเรียนบ้านหอมเกร็ด จ.นครปฐม พัฒนาจักรยานเหลือใช้มาซ่อมแซม ใช้ปั่นสำหรับการรดน้ำในแปลงเกษตรอินทรีย์เพื่อให้เยาวชนได้ออกกำลังกายไปในตัว ซึ่งผักที่งอกงามและปลอดภัยนี้นำมาปรุงเป็นอาหารกลางวันให้น้อง ๆ มีสุขภาพที่ดี ช่วยประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่าย โดยได้ส่งมอบแก่ นายเจน เกิดโพชา ผอ.โรงเรียนบ้านหอมเกร็ด  พร้อมด้วยทีมจาก บมจ.เอส.ซี.จี คณะครู นักเรียน และชุมชนมาร่วมงาน

แปลงปลูกผักด้วยจักรยานรดน้ำ ของโรงเรียนบ้านหอมเกร็ด มี 2 แปลง ได้แก่ 1. แปลงผักกลางแจ้ง มีเนื้อที่ 10×30 เมตร ทางโรงเรียนจะปลูกพืชสวนครัว กระเพรา มะนาว มะกรูด ตะไคร้ ซึ่งเป็นพืชที่ทนแดดกลางแจ้งได้ โดยเดินท่อติดหัวสปริ้งเกอร์ 5 หัว มีระยะห่างกัน 4 เมตร   2. แปลงผักกางมุ้ง ขนาด  5×20 เมตร มีแปลงผักย่อย 6 แปลง ขนาดแปลงละ 1×2 เมตร และมีแปลงผักลอยฟ้า สำหรับพืชที่จะมีแมลงรบกวนและทนแดดจัดไม่ได้ เช่น ผักบุ้ง คะน้า ผักกาด เป็นต้น

ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทีมวิศวะมหิดล ได้ร่วมกันออกแบบและผลิต “จักรยานรดน้ำปลูกผัก” โดยใช้พลังงานกล แทนการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นการประหยัดพลังงานไฟฟ้าและประหยัดพลังงานคน พร้อมไปกับช่วยส่งเสริมสุขภาพการออกกำลังกายแก่น้อง ๆขณะปั่นจักรยาน ด้วยครับ ส่วนประกอบ ได้แก่ 1. จักรยาน 2. สายพาน 3. ปั้มน้ำแบบชัก 4. ท่อ PVC ขนาด ¾” และท่อ PVC ขนาด ¼” 5. หัวสปริงเกอร์ 6. ท่อ PVC ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว 7. ข้อต่อท่อขนาดต่าง ๆ 8. เซนเซอร์และมิเตอร์ สำหรับตรวจวัดความเร็วรอบ ระยะทาง และปริมาณแคลอรี่ ที่เผาผลาญไปกับการปั่นจักรยาน

นายอัครพงศ์ กีรติกรณ์ธนายศ (เก้า) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิศวกรรมไฟฟ้า หนึ่งในทีมจิตอาสาคณะวิศวะมหิดล กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินงาน 1.เรานำจักรยานเก่ามารีไซเคิลซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานปั่นได้ 2. ทำแท่นยึดจักรยานเพื่อวางจักรยานยึดติดกับแท่นยึด โดยวัดขนาดจากตัวจักรยานและระยะของปั๊มกับจักรยานให้สัมพันธ์กัน 3. หาทำเลที่มีแหล่งน้ำที่สามารถจะดูดน้ำขึ้นมาใช้รดแปลงเกษตรได้ 4. วางแผ่นปูนหรือเทปูนเพื่อปรับพื้น วางแท่นจักรยานกับปั้ม 5. ติดตั้งแท่นจักรยานกับปั้ม  นำหลักการความรู้ทางฟิสิกส์ จากศาสตร์เทคโนโลยีวิศวกรรมและคณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้ โดยนำสายพานมาสวมที่ล้อหลังและอีกข้างหนึ่งสวมกับมูเล่ของปั้มน้ำ แล้วเริ่มเดินท่อน้ำจากแหล่งน้ำมาเข้าปั้ม โดยใส่ฟุตวาวล์ตรงตำแหน่งท่อที่จะขึ้นจากแหล่งน้ำมาเข้าปั้ม 6. ต่อท่อออกจากปั้มไปยังร่องแปลงเกษตร ที่วางแนวไว้เพื่อใส่หัวสปริงเกอร์ 7. เมื่อปั่นจักรยานโดยใช้แรงคนก็จะทำให้น้ำถูกสูบจากแหล่งน้ำไปยังแปลงเกษตร ตามระบบกาลักน้ำครับ

นายธีธัช สายเพ็ชร์ (ธี) นักเรียน Grade 10 โรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในทีมจิตอาสา กล่าวถึง การใช้งานจักรยานรดน้ำผัก ว่า เมื่อออกแรงปั่นจักรยาน จะทำให้ล้อหลังที่มีตุ้มถ่วงทำงาน โดยใช้แรงเหวี่ยงของล้อหลังที่มีน้ำหนักเป็นตัวส่งกำลังผ่านสายพานไปยังมูเล่ปั้มน้ำ ทำให้ปั้มน้ำทำงานดูดน้ำจากบ่อน้ำ ส่งจ่ายไปตามท่อถึงหัวสปริงเกอร์ น้ำก็จะกระจายรดน้ำแปลงผักตามที่เราวางแนวสปริงเกอร์ไว้ครับ รู้สึกภูมิใจที่ได้นำสิ่งของที่ไม่ใช้มาดัดแปลงให้เกิดคุณค่าประโยชน์ครับ

ครูและนักเรียนช่วยกันดูแลและบำรุงรักษา ซึ่งทำได้ไม่ยาก เช่น ควรทำความสะอาดและตรวจเช็คหัวกรองหรือฟุตวาวล์ ที่ปลายท่อจุ่มลงไปในแหล่งน้ำหรือบ่อเก็บน้ำเสมอ สิ่งสกปรกที่มาอุตตันอาจทำให้ปั๊มน้ำเสียหายได้, หากปั่นน้ำแล้ว น้ำไม่ไหลออกจากหัวสปริงเกอร์อาจมีสาเหตุมาจากมีอากาศค้างอยู่ในระบบท่อ ต้องกรอกน้ำที่วาวล์เซอร์วิสให้เต็มระบบแล้วปิดวาวล์ให้สนิท ไล่อากาศในระบบให้หมด, ตรวจเช็คข้อต่อที่ระบบดูดน้ำว่ามีรอยรั่วตรงไหนหรือไม่,ตรวจเช็คความตึงหย่อนของโซ่จักรยาน และหมั่นหยอดน้ำมันโซ่เป็นประจำ, ตรวจเช็คความตึงสายพานให้อยู่ในระดับที่พอดี ถ้าหย่อนก็จะทำให้การปั่นปั้มน้ำไม่มีประสิทธิภาพ, ตรวจเช็คเซ็นเซอร์ในกรณีที่มิเตอร์ไม่อ่านค่า ให้ตรวจเช็คตำแหน่งที่เซนเซอร์จับความเร็วรอบว่าตรงกับตำแหน่งที่กำหนดจุดเซนเซอร์ไว้หรือไม่ หรือมีการเคลื่อนที่ของเซนเซอร์หรือไม่

จิตอาสารวมพลัง…คืนสิ่งดี ๆ แก่สังคม จากการใช้ทักษะและความรู้ทางวิศวกรรม…มาเป็นมื้อกลางวันให้น้องๆอิ่มอร่อย ลุขภาพสดใส


PR AGENCY    :  บ.เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BrainAsia Communication)

TEL:  ประภาพรรณ 081-899-3599, สุวพัชร 086-341-6567, E-mail : brainasiapr@gmail.com , www.brainasia.co.th