กระทรวง อว. เสนอ 6 มาตรการสู้ศึกโควิด-19 เตรียมส่งมอบชุดตรวจโควิด 1 ล้านชิ้นลดต้นทุนการผลิต 40% เหลือชุดละ 1,000 บาท เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจง่ายขึ้น ทั้งสั่งการเครือข่ายโรงพยาบาลฯ เตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ เตรียมพื้นที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนามกรณีเกิดการระบาดในวงกว้าง ทุกมหาวิทยาลัยลดความเสี่ยงปิดมหาวิทยาลัยในช่วงที่จะมีการระบาดเรียนออนไลน์แทนระบบปกติ ภายใน 1 เมษายนนี้
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า กระทรวง อว. เสนอ 6 มาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ COVID-19 ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 1/2563 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลดการเคลื่อนไหวบุคคล ป้องกันการแพร่ระบาด ได้แก่
1.มาตรการการบริหารจัดการดูแลนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัย : ปรับรูปแบบการเรียนการสอนจากระบบปกติเป็นระบบออนไลน์ปิดมหาวิทยาลัยภายใน 2 สัปดาห์ โดยต้องดำเนินการครบทุกมหาวิทยาลัยให้ใช้การสอนออนไลน์ ภายในวันที่ 1 เมษายน 2563 โดยจะต้องเตรียมการด้าน infrastructure เพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้งานระบบที่เพิ่มขึ้น และจัดเตรียม platform กลางเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ปรับและให้เลื่อนหรือยกเลิกการสอบ การฝึกงาน งดกิจกรรมเพื่อลดการสัมผัสเชื้อ
2.มาตรการการทำงานสำหรับบุคลากรในสังกัดกระทรวง : บริหารจัดการให้มีการทำงานที่บ้าน (work at home) โดยการสั่งการให้เกิดการทำงานที่บ้าน (work at home) เพื่อลดการเดินทางและลดการสัมผัสเชื้อให้มากที่สุด สำหรับงานที่ต้องมีการปฏิบัติการ ให้ปฏิบัติการด้วยประสิทธิภาพเท่าเดิม แต่ปรับเปลี่ยนวิธีการหรือ บริหารจัดการให้มีความเหมาะสมตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ และงดกิจกรรมของทุกหน่วยงานที่ต้องมีคนจำนวนมาก
3.เตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ ให้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข : โดยสั่งการให้เครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ประสานงานกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อย่างใกล้ชิดในประเด็นของขั้นตอนและแนวปฏิบัติที่เหมาะสม (best practice) ตั้งแต่ผู้ป่วยเข้าสู่โรงพยาบาลไปจนถึงการรักษา แผนการส่งต่อผู้ป่วย การดูแลผู้ป่วย การลดผู้ป่วย elective การเตรียมหอผู้ป่วย การเตรียม ICU เครื่องช่วยหายใจ จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ และห้องแยกพิเศษ พร้อมเตรียมการรองรับกรณีเกิดการระบาดในวงกว้าง เตรียมพื้นที่รองรับเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เช่น โรงยิม และหอประชุมของมหาวิทยาลัย เป็นต้น
รวมทั้งประสานงานกับ BOI เพื่อปลดล็อคในประเด็นปัญหาการขาดแคลนชุดป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ (PPE) และหน้ากากอนามัย พร้อมพิจารณาปลดล็อคระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างจากกรมบัญชีกลาง ในประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างสิ่งของที่ขาด และหายาก ที่ไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ตามราคาที่กำหนด
4.จัดทำระบบบริหารความเสี่ยงด้วยนวัตกรรม พร้อมพัฒนาต่อยอดเป็นระบบปฏิบัติการถาวรที่หน่วยงานใน อว. ในการเชื่อมกับทุกภาคส่วน เพื่อรองรับสถานการณ์ในระยะยาวและเพื่อประโยชน์กับประชาชนในช่วงวิกฤติ : ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบการติดตามและการตรวจสอบ โดยใช้แพลตฟอร์ม DDC-care 2) การใช้ระบบการแพทย์และสุขภาพทางไกล 3) ระบบแสดงตำแหน่งและจัดส่งสิ่งจำเป็นทางการแพทย์ (Logistics) และ 4) การบริหารจัดการด้านวัตถุดิบ การผลิต การจัดเก็บ และการกระจายอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น
5.การสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับ COVID-19: กระทรวง อว. โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดเตรียมกรอบงบประมาณ 250 ล้านบาท ในการจัดสรรทุนวิจัยใน 4 ประเด็นสำคัญเร่งด่วน ได้แก่ 1) การศึกษาทางพันธุกรรมและทางชีววิทยาของไวรัสเพื่อความเข้าใจและติดตามการเปลี่ยนแปลงของเชื้อ (Whole genome sequencing) 2) ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อความเข้าใจการแพร่กระจายของเชื้อสำหรับการเตรียมรับมือการระบาด และการแพร่ระบาดของไวรัส (Computer simulation and modeling) 3) การพัฒนาวิธีการวินิจฉัย และการผลิตชุดตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ รวดเร็ว และเหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศ (Laboratory diagnostics) โดยร่วมกับบริษัทสยามไบโอไซน์ ในการผลิตชุดตรวจโควิด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจง่ายขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการ โดยจะส่งมอบทั้งหมด 1 ล้านชิ้น ภายในระยะเวลา 6 เดือน จากปัจจุบันที่มีความต้องการในการใช้เฉลี่ย จำนวน 4,000 ชิ้น/วัน และคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิตเฉลี่ยประมาณ 40% เหลือเพียงประมาณ 1,000 บาท จากเดิมราคาประมาณ 4,000 บาท 4) การวิจัยในด้านอื่นๆ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
6.การสนับสนุนในด้านอื่นๆ โดยมุ่งเน้นในการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก อาทิ หน้ากากอนามัยจากแผ่นกรองเส้นใยสมบัติพิเศษต้านเชื้อไวรัสและฝุ่น PM 2.5, หน้ากากผ้าแบบซักได้, หุ่นยนต์ช่วยประเมินผู้ป่วย และแนวทางการใช้ข้อมูลแผนที่กลางของประเทศด้วยระบบ NGIS