‘พาณิชย์’ ชูความสำเร็จอาฟต้า ทำการค้าไทยพุ่ง 976% ดันอาเซียนสู่คู่ค้าเบอร์ 1 ของไทย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กางสถิติการค้า ชี้อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยต่อเนื่อง เผยตั้งแต่ความตกลงการค้าเสรีอาเซียนมีผลใช้บังคับ จนถึงปี 2562 มูลค่าการค้าระหว่างกันขยายตัวก้าวกระโดดถึงร้อยละ 976 ขณะที่การลงทุนขยายตัวกว่าร้อยละ 319

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย พบว่า อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย มาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) มีผลบังคับใช้ จนถึงปี 2562 การค้าไทยกับอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 976 การส่งออกขยายตัวกว่าร้อยละ 1,301 ส่วนการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 713 ทั้งนี้ ในปี 2535 ก่อนที่ AFTA จะมีผลใช้บังคับ การค้าของไทยกับอาเซียนมีมูลค่าเพียง 10,031 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออก 4,490 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 5,541 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในปี 2562 มูลค่าการค้าไทยกับอาเซียนกลับเพิ่มขึ้นเป็น 107,928 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออก 62,904 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 45,024 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ดุลการค้ากว่า 17,880 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางอรมน เพิ่มเติมว่า เมื่อเปรียบเทียบสินค้าสำคัญที่ไทยขอใช้สิทธิส่งออกไปอาเซียนก่อนมี FTA กับปี 2562 พบว่า รถยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 36,860 รองลงมา คือ เม็ดพลาสติก ขยายตัว ร้อยละ 7,246 น้ำมันสำเร็จรูป ขยายตัวร้อยละ 6,575 ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 5,594 และเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ขยายตัวร้อยละ 4,854 สำหรับในปี 2562 ประเทศอาเซียนที่มีมูลค่าการค้ากับไทยสูงสุด ได้แก่ มาเลเซีย สัดส่วนร้อยละ 21.6 รองลงมาเวียดนาม สัดส่วนร้อยละ 16.3  สิงคโปร์ สัดส่วนร้อยละ 15.3 และ อินโดนีเซีย สัดส่วนร้อยละ 15.1

นางอรมน เสริมว่า ความตกลงการค้าเสรีอาเซียนยังช่วยส่งเสริมบรรยากาศการลงทุน ทำให้ไทยซึ่งตั้งอยู่ใจกลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับความสนใจจากนักลงทุนนานาประเทศเพิ่มขึ้น โดยในปี 2535 สถิติการลงทุนโดยตรงสะสมจากต่างประเทศของไทยอยู่ที่ 2,151 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็น 9,010 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562 ขยายตัวกว่าร้อยละ 319 นอกจากนี้ ไทยยังได้ร่วมกับอาเซียนพัฒนากลไกการอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ ระบบคลังข้อมูลการค้าของอาเซียน หรือ NTR ซึ่งรวบรวมข้อมูลอัตราภาษีศุลกากร กฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้า การค้าบริการ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มาตรการทางการค้าของสมาชิกอาเซียน

ทั้งนี้ สามารถสืบค้นข้อมูลได้ผ่านทางเว็บไซต์คลังข้อมูลการค้าไทย www.thailandntr.com ระบบ ASSIST หรือ ASEAN Solutions for Investments, Services and Trade (website : assist.asean.org) ซึ่งเป็นช่องทางออนไลน์ให้นักธุรกิจอาเซียน สามารถยื่นข้อร้องเรียนและรับการตอบกลับเกี่ยวกับประเด็นอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนภายใต้กรอบอาเซียน รวมถึงระบบแลกเปลี่ยนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ ATIGA Form D ผ่านระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน ครบทั้ง 10 ประเทศ เป็นต้น

สำหรับความตกลง AFTA ประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ได้ตกลงเปิดตลาดการค้าสินค้าระหว่างกัน ตั้งแต่ปี 2536 โดยสมาชิกได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรระหว่างกันแล้วเกือบทุกรายการสินค้าแล้ว ยกเว้นบางรายการเท่านั้น โดยในส่วนของไทยยังคงเก็บภาษีศุลกากรกับเนื้อมะพร้าวแห้ง เมล็ดกาแฟ ไม้ตัดดอก และมันฝรั่ง อยู่ที่ร้อยละ 5


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์