กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แนะเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ตรวจวัดอุณหภูมิของร่างกาย ผู้ใช้ต้องรู้หลักการในการทำงานของเครื่อง เพื่อให้สามารถตรวจวัดได้มาตรฐาน เที่ยงตรง และมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรค ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยมีมาตรการคัดกรองผู้โดยสารในท่าอากาศยานด้วยการตรวจสอบอุณหภูมิร่างกาย ซึ่งนิยมใช้กล้องถ่ายภาพความร้อน (Thermal Imaging Camera) พร้อมทั้งใช้เครื่องวัดอุณหภูมิแบบพกพาเป็นอุปกรณ์ในการตรวจคัดกรอง โดยคนทั่วไปจะมีอุณหภูมิร่างกายอยู่ระหว่าง 36.5 – 37.4 องศาเซลเซียส โดยประมาณ สำหรับผู้ที่เริ่มมีไข้หรือสงสัยว่าติดเชื้อจะมีอุณหภูมิที่ มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส เป็นต้นไป ซึ่งความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิจะอยู่ในช่วงแคบเพียง 0.5 – 0.6 องศาเซลเซียส ทำให้มีโอกาสสูงในการคัดกรองผู้ป่วยผิดพลาด ดังนั้น โรงพยาบาล หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนที่ตรวจอุณหภูมิร่างกายด้วยการคัดกรองผู้ป่วยหรือตนเอง ต้องใช้เครื่องวัดอุณหภูมิแบบพกพาที่ใช้คัดกรองอย่างถูกวิธี จึงควรให้ความสำคัญในการรู้หลักการในการใช้งานของเครื่องวัดอุณหภูมิ และบำรุงรักษาเครื่องมือให้พร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสมชาย อินทร์เนียม ผู้อำนวยการกองวิศวกรรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองวิศวกรรมการแพทย์แนะนำหลักการของเครื่องวัดอุณหภูมิของร่างกาย 4 ประเภท ดังนี้ 1) เครื่องวัดอุณหภูมิแบบแท่งแก้ว ใช้หลักการทางฟิสิกส์ในเรื่องการคุณสมบัติการขยายตัวของของเหลวในแท่งแก้วเครื่องมือชนิดนี้นิยมใช้วัดอุณหภูมิทางปากหรือทางรักแร้ในผู้ใหญ่หรือเด็กโต แต่ไม่เหมาะสำหรับใช้ในเด็กเล็ก ข้อดี คือ อ่านค่าอุณหภูมิมีความน่าเชื่อถือและมีความถูกต้อง แต่ใช้เวลาในการวัดนาน ทำให้ไม่เหมาะสมในการคัดกรองผู้ป่วยจำนวนมาก 2) เครื่องวัดอุณหภูมิแบบดิจิตอล ที่พัฒนาต่อยอดมาจากแท่งแก้ว หน้าจอแสดงผลเป็นแบบตัวเลข ทำให้ง่ายต่อการอ่านค่า เครื่องมือชนิดนี้นิยมใช้ในการวัดอุณหภูมิทางปากหรือทางรักแร้ในผู้ใหญ่หรือเด็กโต รวมถึงใช้ในการวัดอุณหภูมิทางทวารของเด็กเล็กด้วย ข้อดี คือ อ่านค่าอุณหภูมิมีความน่าเชื่อถือและมีความถูกต้อง ใช้เวลาในการวัดน้อยกว่าแบบแท่งแก้ว แต่ยังไม่รวดเร็วในการใช้ในการคัดกรองคนจำนวนมาก 3) เครื่องวัดอุณหภูมิในช่องหูใช้หลักการวัดอุณหภูมิความร้อนที่แพร่ออกมาของร่างกายโดยไม่สัมผัสกับอวัยวะที่วัด มีหน้าจอแสดงผลเป็นแบบตัวเลขทำให้ง่ายต่อการอ่านค่า บริเวณปลายมีเซ็นเซอร์วัดรังสีอินฟราเรดที่ร่างกายแพร่ออกมา โดยเครื่องมือได้ออกแบบให้วัดที่บริเวณเยื่อแก้วหู ข้อดี คือ อ่านค่าอุณหภูมิได้รวดเร็วเหมาะสมกับการคัดกรองคนจำนวนมาก ข้อควรระวัง คือ การปนเปื้อนและติดเชื้อจากทางหูกรณีไม่เปลี่ยนปลอกหุ้ม 4) เครื่องวัดอุณหภูมิทางหน้าผาก เป็นเครื่องที่พัฒนามาเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อของเครื่องวัดอุณหภูมิในช่องหู แต่ยังคงวัดอุณหภูมิได้อย่างรวดเร็ว เพื่อใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยจำนวนมาก มีหน้าจอแสดงผลเป็นแบบตัวเลข บริเวณปลายมีเซ็นเซอร์วัดรังสีอินฟราเรดที่ผิวหนัง โดยเครื่องมือได้ออกแบบให้วัดที่บริเวณหน้าผาก ข้อดี คือ อ่านค่าอุณหภูมิได้รวดเร็วเหมาะสมกับการคัดกรองคนจำนวนมาก ข้อควรระวัง คือ การวัดที่บริเวณอื่น เช่น ช่องหู บริเวณฝ่ามือ เป็นต้น อาจทำให้การวัดผิดพลาด และโหมดการวัดของเครื่องที่อาจใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ รวมถึงระยะการวัดที่ห่างเกินไปทำให้การวัดผิดพลาดได้ เพื่อให้เครื่องมือมีประสิทธิภาพในการคัดกรองสูงสุด โดยเฉพาะเครื่องวัดอุณหภูมิทางหน้าผากและในช่องหู ควรดำเนินการตามคู่มือการใช้งานอย่างเคร่งครัด และมีการตรวจสอบค่าประจำปี จากผู้เชี่ยวชาญในอุปกรณ์และเครื่องมือนั้น ซึ่งกองวิศวกรรมการแพทย์เป็นหนึ่งในหน่วยงานทีมีบริการทดสอบตรวจสอบเครื่องมือและให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป
*********15 มีนาคม 2563