1.สถานการณ์ ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2563 ณ เวลา 08.00 น.
1. ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 46 ราย กลับบ้านแล้ว 35 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 82 ราย
2. ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 13 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 5,713 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 249 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 5,464 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 4,014 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,699 ราย
3. สถานการณ์ทั่วโลกใน 134 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 1 เรือสำราญ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 14 มีนาคม 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 142,592 ราย เสียชีวิต 5,373 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 80,815 ราย เสียชีวิต 3,177 ราย
2. สธ. พบผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 เพิ่ม 7 ราย โดย 4 รายเป็นครอบครัวเดียวกัน
กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่ม 7 ราย โดย 4 รายเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ชี้สิ่งสำคัญคือผู้เดินทางกลับจากพื้นที่ระบาดขอให้กักกันตัวเอง แยกของใช้ เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อให้คนในครอบครัว สังคม
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า วันนี้ ได้รับรายงานผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 7 ราย รายที่ 1 เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงผู้ป่วยยืนยันลำดับที่ 57 (กลุ่มสังสรรค์ 11 คน) เป็นหญิงไทยอายุ 63 ปี (นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 76)
รายที่ 2 – 5 เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน มารับการตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนในกทม. รายละเอียดดังนี้
รายที่ 2 (index case) หญิงไทย 57 ปี (มารดา) เดินทางมาจากญี่ปุ่นวันที่ 4 มีนาคม 2563 มีไข้ ไอมีเสมหะ (นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 77)
รายที่ 3 หญิงไทย อายุ 30 ปี (บุตรสาว) อาชีพพนักงานบริษัท ให้ประวัติเพื่อนมาจากเกาหลีใต้ (วันที่ 2 มีนาคม 2563) และมารดามาจากญี่ปุ่น เริ่มป่วยวันที่ 9 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก มีเสมหะ (นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 78)
รายที่ 4 ชายญี่ปุ่น อายุ 33 ปี (สามีบุตรสาว) อาชีพพนักงานบริษัท เริ่มป่วย 9 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไข้ ไอ มีเสมหะ (นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 79)
รายที่ 5 เด็กหญิงไทย อายุ 4 ปี (หลาน) เริ่มป่วย 9 มีนาคม 2563 มีไข้ ไอ มีเสมหะ (นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 80)
รายที่ 6 เป็นหญิงไทย อายุ 20 ปี เดินทางกลับจากญี่ปุ่นถึงไทย 14 กุมภาพันธ์ 2563 เริ่มป่วยวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ด้วยอาการไข้ ไอ หายใจเหนื่อย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ มีเสมหะ หลังมีเสมหะอาการมีไม่ดีขึ้น วันที่ 11 มีนาคม 2563 จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกทม. (นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 81)
และรายที่ 7 เป็นชายไทย อายุ 41 ปี อาชีพนักแสดงและพิธีกร เริ่มป่วย 11 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีประวัติมีเพื่อนเดินทางมาจากต่างประเทศ รักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี อยู่ระหว่างติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 82)
ทั้งนี้ จะติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เพื่อเฝ้าระวังสังเกตอาการ ซึ่งขณะนี้มีผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังรอผลสอบสวนโรคประมาณ 36 ราย เมื่อได้รับการยืนยันจะแถลงให้ทราบต่อไป
สรุปมีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายแล้ว 35 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 46 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยสะสมในประเทศไทยขณะนี้ 82 ราย สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย ที่รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ขณะนี้ ผู้เดินทางกลับจากพื้นที่มีรายงานการระบาดของโรคมีความตื่นตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่สิ่งสำคัญคือการกักกันตัวเองที่บ้านให้ครบ 14 วันตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข แยกของใช้ส่วนตัว เพื่อไม่ให้คนในครอบครัวติดเชื้อ เช่นกรณีผู้ป่วยรายใหม่ 4 รายในวันนี้ที่เป็นครอบครัวเดียวกัน ต้องงดกิจกรรมทางสังคม ไม่ออกไปในที่มีคนหนาแน่น เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หากมีไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง / ประวัติความเสี่ยง เพื่อเข้าสู่ระบบการตรวจวินิจฉัย การรักษา และเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายในวงกว้าง
“ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 ที่ถือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือคนในครอบครัว ผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือมีการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะไม่เกิน 1 เมตร นานกว่า 5 นาที หรือถูกผู้ป่วยไอ จามใส่ โดยไม่ได้ป้องกันตนเอง หรืออยู่ในสถานที่ปิด ไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น รถปรับอากาศ ห้องปรับอากาศ ร่วมกับผู้ป่วยนานกว่า 15 นาที และอยู่ห่างกับผู้ป่วยโดยไม่มีการป้องกันในระยะไม่เกิน 1 เมตร
ทุกคนจะได้รับการตรวจวินิจฉัย มีการติดตามอาการจากเจ้าหน้าที่ และจะต้องกักกันตัวเองที่บ้านอย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 14 วัน ส่วนผู้สัมผัสคนอื่น ๆ ในทางระบาดวิทยาถือว่าเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ขอให้สังเกตอาการตัวเองเป็นเวลา 14 วัน แนะนำให้ทำตัวเองให้ห่างจากสังคมทั้งระยะและช่วงเวลา (Social Distancing) งดกิจกรรมทางสังคม หากป่วยขอให้พบแพทย์ทันที ซึ่งการตรวจหาเชื้อขณะที่ยังไม่มีอาการ มีโอกาสพบเชื้อน้อยมาก” นายแพทย์สุขุมกล่าว
3. คำแนะนำสำหรับประชาชน
ขอให้ประชาชนสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/ และ“ไทยรู้ สู้โควิด” ทาง Twitter, Facebook, Line official, TikTok และChatBot 1422 ทาง ID : @COVID-19 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง อย่าเชื่อข่าวลือจากทุกทาง “เช็คก่อนแชร์” ตรวจสอบข่าวลวงได้ที่ www.antifakenewscenter.com
************************************** 14 มีนาคม 2563