องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ จังหวัดบุรีรัมย์

วันที่ 13 มีนาคม 2563 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี และ นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเกียรติศักดิ์ หนูเเก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นายเทิดพงศ์ ไทยอุดม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานบุรีรัมย์ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง และคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานและความก้าวหน้าการบริหารจัดการน้ำพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 8 ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

โอกาสนี้ นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้รายงานสรุปผลการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 8 ซึ่งประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่รวมกันทั้งหมด 29.8 ล้านไร่ สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่การเกษตรได้ 18 ล้านไร่ ในขณะเดียวกันก็ได้มีการพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทาน 1.36 ล้านไร่ ซึ่งทั้ง 4 จังหวัด ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำมูลเป็นหลัก ที่ผ่านมากรมชลประทานได้มีการดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวม 118 โครงการ จะมีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 1,885 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 21.9% ของปริมาณน้ำท่าซึ่งมีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 8,596 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำเก็บกักอยู่ที่ 571 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นปริมาตรน้ำที่ใช้การ 469 ล้าน ลบ.ม.

กรมชลประทานได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในช่วง ปี 2562/2563 ประมาณ 412 ล้าน ลบ.ม. โดยจะแบ่งความสำคัญออกเป็น น้ำอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ เพื่อการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โดยโครงการชลประทานที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ และจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2563 มีทั้งสิ้น 42 โครงการ จะทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 22 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 32,000 ไร่ สำหรับโครงการที่อยู่ในแผนพัฒนาปี 2564-2566 มีจำนวนทั้งหมด 428 โครงการ หากแล้วเสร็จจะมีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 266 ล้าน ลบ.ม. สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 750,000 ไร่ ในส่วนของการการแก้ไขปัญหาภัยแล้งนั้น กรมชลประทานได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2562/2563 ขึ้น โดยได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 87 เครื่อง เครื่องจักรกล จำนวน 5 คัน รถบรรทุกน้ำ จำนวน 19 คัน ทั่วทั้ง 4 จังหวัด และในกรณีที่ฝนมาล่าช้ากว่าที่กำหนด ทางกรมชลประทานได้เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือสำหรับพร้อมใช้งานให้กับ 111 หน่วย เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงที

สำหรับความเป็นมาของโครงการอ่างเก็บน้ำลำนางรองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สืบเนื่องมาจากในปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา บริเวณพื้นที่อำเภอโนนดินแดง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ได้ขัดขวางการพัฒนาทุกรูปแบบ มีการต่อสู้ที่รุนแรงในพื้นที่มีการปล้นสะดมตามแนวชายแดนไทย – กัมพูชา ราษฎรไม่สามารถออกไปทำกินนอกหมู่บ้านได้ ความรุนแรงของสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้ ราษฎรที่กระจายกันทำกินอยู่ทั่วพื้นที่ อพยพเข้ามาอยู่ในบ้านโนนดินแดง ตำบลโนนดินแดง ก่อให้เกิดปัญหาความแออัดอดอยากทุกข์ยากแสนสาหัส ความได้ทรงทราบถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2521 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้อธิบดีกรมชลประทานในขณะนั้น เข้าเฝ้าเพื่อรับพระราชดำริให้พิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำและฝายทดน้ำบริเวณต้นน้ำลำนางรอง