กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ชวนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เข้ากลุ่มไลน์แอด “@อาสาปราบยุง” เพื่อเป็นเครือข่ายป้องกัน ควบคุม และแบ่งปันความรู้ สอบถามทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกจากทีมอาสาปราบยุง เนื่องจากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2561 ตั้งแต่ 1 มกราคม – 10 กรกฎาคม 2561 ประเทศไทยมีผู้ป่วยแล้ว 28,732 ราย เสียชีวิต 37 ราย และจากข้อมูลผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน อายุ 5 – 14 ปี แต่ผู้เสียชีวิตกลับเป็นวัยผู้ใหญ่ อายุ 35 ปีขึ้นไป มีอัตราการป่วยตายสูงกว่าเด็ก 2- 5 เท่า และคาดการณ์ว่าตลอดปีอาจพบมีผู้ป่วยเพิ่มมากถึง 75,000 ราย
นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดี กรม สบส. ขานรับนโยบายแพทย์หญิงประนอม คำเที่ยง อธิบดีกรม สบส. ในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพภาคประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเองและจัดการปัญหาด้านสุขภาพในชุมชน รวมถึงป้องกันโรคติดต่อ โดยเผยว่า 4กรม สบส. ได้ขอความร่วมมือ อสม.ทั่วประเทศ ให้เข้าร่วมกลุ่มไลน์ @อาสาปราบยุง เพื่อเป็นเครือข่ายปราบยุง และรายงานสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ และติดตามความเคลื่อนไหวของโรคผ่านกลุ่มไลน์ @อาสาปราบยุง รวมถึงการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก และข่าวสารความรู้ได้จาก www.thaivbd.org ของสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลงของกรมควบคุมโรค และให้ อสม.ออกให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกในชุมชน ชักชวนประชาชนให้ดำเนินการ เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม โรคไข้เลือดออก ด้วยการ สำรวจบ้านเรือนของตนเอง และชุมชนว่ามีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายหรือไม่ เช่น โอ่งน้ำ ถังน้ำในห้องน้ำ ถ้วยใส่น้ำรองขาตู้กับข้าว ถังซีเมนต์ จานรองกระถางต้นไม้ แจกันดอกไม้หรือพลูด่าง ยางรถยนต์ รวมถึงเศษขยะพลาสติก ขยะจำพวกโฟม เป็นต้น หากพบให้ยึดหลัก “3 เก็บ 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่ให้ยุงลายอยู่อาศัย 2.เก็บขยะให้เกลี้ยง ไม่ให้ยุงลายเพาะพันธุ์ 3.เก็บปิดน้ำให้มิดชิด ไม่ให้ยุงลายวางไข่จะช่วยป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกาด้วย และรายงานผลให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลรับทราบทุกสัปดาห์
นอกจากนี้ ให้ อสม.ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง หากมีคนในชุมชนป่วย ให้สังเกตอาการ ดังนี้ เด็กจะมีอาการไข้เฉียบพลัน และสูงลอยเกินกว่า 2 วัน อ่อนเพลีย อาจมีผื่น หน้าแดง หรือคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ผู้ใหญ่จะมีอาการไข้เฉียบพลัน และสูงลอยเกินกว่า 2 วัน อ่อนเพลีย กินได้น้อย หรือคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด ฯลฯ หากมีอาการดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือสถานีอนามัยทันที