รมช.มนัญญา เปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเชื่อมโยงเครือข่ายและบริหารจัดการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์

วันที่ 11 มีนาคม 2563 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเชื่อมโยงเครือข่ายและบริหารจัดการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ โดยมี นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนสหกรณ์ ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ ปิ่นเกล้า กรุงเทพมหานคร

สำหรับโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเชื่อมโยงเครือข่ายและการบริหารจัดการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ในการการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ และกำหนดแนวทางการบริหารจัดการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ให้กับผู้แทนสหกรณ์ที่สนใจจะจัดตั้งซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ เจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดที่เกี่ยวข้อง และคณะทำงานซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ รวม 65 คน

โครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ เป็นนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ริเริ่มพัฒนาสหกรณ์ให้เป็นจุดจำหน่ายสินค้าเกษตรของสหกรณ์ที่มีคุณภาพจากจังหวัดต่าง ๆ เช่น ข้าวสาร นม ไข่ไก่ ผักผลไม้ อาหารแปรรูป และเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าสหกรณ์ได้มากขึ้น และผลักดันให้สหกรณ์เป็นศูนย์รวบรวมและจำหน่ายผลผลิตที่มีคุณภาพแก่ประชาชนในราคาที่เป็นธรรม ในรูปแบบ “ซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์”
การดำเนินการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ระยะเริ่มแรกได้เปิดตัวซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์แห่งแรกที่ร้านสหกรณ์พระนคร จำกัด กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา สามารถเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าให้กับเครือข่ายสหกรณ์ผู้ผลิต และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคในเมืองหลวงสามารถเข้าถึงสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของเกษตรกร ทั้งสินค้าข้าวสาร ไข่ไก่ ผลิตภัณฑ์นม กาแฟ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป ผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูป ผักและผลไม้ สำหรับสินค้าที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ไข่ไก่เบอร์ 1 กล้วยหอมทองสด รวมทั้งผักและผลไม้ และได้นำนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายสหกรณ์ผู้ผลิต ซึ่งมีบทบาทในการส่งเสริมเกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีระบบการบริหารจัดการ การรวบรวม การแปรรูป และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของสมาชิกสหกรณ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด พร้อมทั้งเชื่อมโยงไปสู่ผู้บริโภค โดยส่งจำหน่ายผ่านร้านค้าสหกรณ์ที่เป็นจุดจำหน่ายสินค้าและกระจายสู่ผู้บริโภคโดยตรง เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสได้เข้าถึงสินค้าคุณภาพของสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ในปี 2563 กรมส่งเสริมสหกรณ์มีแผนพัฒนาร้านค้าสหกรณ์ที่มีความพร้อมสามารถขยายผลให้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ เพื่อเปิดเป็นจุดจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพจากสหกรณ์ในจังหวัดต่าง ๆ เช่น ข้าวสาร นม กาแฟ ไข่ไก่ ผักผลไม้ และอาหารแปรรูป เป็นต้น โดยมีสหกรณ์สนใจและประสงค์เข้าร่วมดำเนินการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ จำนวน 98 แห่ง ใน 42 จังหวัด เบื้องต้นกรมฯ ได้คัดเลือกสหกรณ์ที่มีความพร้อมตั้งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์แล้ว 27 แห่ง จากจังหวัดกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ร้านค้าที่ตั้งอยู่ในชุมชนและหน่วยงานราชการและสหกรณ์ในภาคการเกษตรด้วย โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะถ่ายทอดความรู้การบริหารจัดการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ พัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ให้สามารถแข่งขันในธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และมีความทันสมัย สามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นด้วย