กระทรวงเกษตรและสหกรณ์บูรณาการทุกภาคส่วน ป้องอุตสาหกรรมการผลิตสุกรไทย ปลอดภัยจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever, ASF) ปัจจุบัน ยังพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างต่อเนื่อง และประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ยังไม่พบการระบาดของโรคดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่พบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศจีน (ตั้งแต่ 3 สิงหาคม 2561) โดยมีการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และแนวเวชปฏิบัติของ  โรคอหิวาต์แอฟริกา เป็นการบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้ยกระดับแผนดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ และได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา โดยทุกภาคส่วนมีความเห็นร่วมกันในการป้องกันโรคดังกล่าวไม่ให้เข้าสู่ประเทศไทย พร้อมแจ้งให้หน่วยงานในกำกับร่วมดำเนินการตามมาตรการป้องกัน และเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ กำหนด

ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินมาตรการในการป้องกัน และเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง คือ การประกาศระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากสุกรจากประเทศที่มีการระบาดของโรค และบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำสุกร ผลิตภัณฑ์สุกรเข้ามาในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเฝ้าระวังในการจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ X-Ray เคาะประตูบ้าน เฝ้าระวังทางอาการ ขึ้นทะเบียนและประเมินความเสี่ยงด้วยแอพลิเคชั่น E-SmartPlus พร้อมให้คำแนะนำความรู้เรื่องโรคและการป้องกัน จนทำให้ประเทศไทยปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจนถึงปัจจุบัน

และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ได้มีการจัดเตรียมแผนงาน/โครงการ/งบประมาณในการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเข้าสู่ประเทศไทย และขอความร่วมมือในการบริหารจัดการเศษอาหารจากสถาน-ประกอบการ ร้านอาหาร โรงแรม ครัวเรือนและตลาด อีกทั้ง ได้เน้นย้ำเรื่องการปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพของหน่วยงานราชการที่มีการเลี้ยงสุกร เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ขอให้ยกระดับฟาร์มหรือสถานที่เลี้ยงสุกรให้ความปลอดภัย ทางชีวภาพสูงสุด ทั้งนี้ หากประเทศไทยยังสามารถคงสภาพปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรไว้ได้ จะส่งผลดีต่อภาพรวมการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทย มูลค่ากว่าปีละ 2 แสนล้านบาท นายเฉลิมชัย กล่าวในที่สุด


ข้อมูล/ข่าว : กลุ่มควบคุมป้องกันโรคปศุสัตว์ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์