ก.แรงงาน ลงพื้นที่กรุงเทพฯ เยี่ยมชมฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อย ย้ำ ฝึกเมนูสับปะรด ช่วยเกษตรกร และต้องปราศจากไขมันทรานส์
19 กรกฎาคม 2561 พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เยี่ยมชมการฝึกอบรมทักษะอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย ภายใต้ โครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และความมั่นคงในชีวิต ที่สำนักงานวิทยาลัยการแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน จำนวน 7 สาขา รุ่น 10 รุ่น ได้แก่ การประกอบอาหารไทย 2 รุ่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 2 รุ่น การทำขนมเบเกอรี่ 1 รุ่น การทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร 1 รุ่น การทำผลิตภัณฑ์เครื่องจักรสาน 1 รุ่น การทำเครื่องดื่มชนิดต่างๆ และอาหารว่าง 1 รุ่น การนวดประกอบอาชีพเพื่อสุขภาพ 2 รุ่น และทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาพนักงานนวดไทย ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร (สพร. 13 กรุงเทพมหานคร)
พลตำรวจเอก อดุลย์ เปิดเผยว่าโครงการนี้ตั้งเป้าฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อย 625,120 คน เพื่อให้มีอาชีพ มีงานทำ หรือประกอบอาชีพอิสระโดยผู้ผ่านการฝึกอบรมต้องมีอาชีพอย่างน้อย 65 มีรายได้เพิ่มขึ้น ในส่วนของสพร.13 กรุงเทพมหาคร มีผู้แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพจำนวน 13,248 คน และช่างอเนกประสงค์ 220 คน แบ่งเป็นฝึกอาชีพเสริมหรืออิสระ 13,033 คน ซึ่งผู้เข้าร่วมฝึกอบรมในครั้งนี้จะแบบอย่างที่ดีให้แก่คนอื่น ในการแสวงหาโอกาสในการพัฒนาตนเอง ให้มีทักษะฝีมือ สร้างอาชีพหลักและอาชีพเสริมในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว
“เพื่อสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดที่ประสบปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ ได้คัดเลือกเมนูที่นำสับปะรดมาเป็นส่วนประกอบในการฝึกอบรมจากเมนูปกติ เช่น ข้าวผัดสับปะรด น้ำสับปะรด คุกกี้สับปะรด เป็นต้น พร้อมกับให้คำแนะนำในการนำสัปปะรดมาเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปในรูปแบบต่างๆ ด้วย ในประเด็นที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สั่งห้ามนำส่วนประกอบจากไขมันทรานส์ในการผลิตอาหาร ได้ให้นโยบายในการหลีกเลี่ยงการใช้วัตถุดิบที่มีไขมันทรานส์ ในการฝึกอบรมเกี่ยวกับเมนูอาหารและเบเกอรี่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว