เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2563 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการจัดงานมหกรรมเกษตรสร้างชาติ โดยมี นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว นายภูสิต สมจิตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นางสาววรรณพร ดอกจำปา ผู้ตรวจราชการกรม (เขตตรวจราชการที่ 9,13,14) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อาจารย์จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบค (ABAC : Assumption University) ผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กรมชลประทาน การปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมประมง กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) และนางสาวพรพรรณ ภูวนธรรม นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มตรวจและประสานราชการ สำนักบริหารกลาง ร่วมประชุมด้วย ณ หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย เลขที่ 222/2 หมู่1 ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี
ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาล นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายเร่งด่วนในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง การขาดแคลนน้ำ โดยช่วยเหลือเกษตรกรให้มีอาชีพ มีรายได้ เพราะสถานการณ์ปัจจุบัน เกิดภัยแล้ง ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำ เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำเหลือน้อยกว่าในปีก่อนๆ และในช่วงเดียวกัน เกษตรกรไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ และผลกระทบจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก และเพื่อให้เกิดการสร้างงานและรายได้ที่เหมาะสมในแต่ละชุมชน จึงได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลภาคการเกษตรทั้งระบบของประเทศ โดยเน้นให้แต่ละหน่วยงานจัดทำศูนย์การเรียนรู้และการสาธิตการประกอบอาชีพในด้านต่าง ๆ ที่มีเมนูอาชีพสำหรับเกษตรกร/ประชาชน ประสงค์นำไปประกอบอาชีพ อาทิ 1.ด้านพืช ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย 2.ด้านประมง ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำ 3.ด้านปศุสัตว์ ส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ กระบือ แพะ และสัตว์ปีก 4.ด้านการตลาด การแปรรูป เพิ่มมูลค่าการผลิต โดยจัดให้มีศูนย์ถ่ายทอด ศูนย์เรียนรู้ ซึ่งมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน
โดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการเกษตรสร้างชาติ มีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการผลิตด้านการเกษตร ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง โดยการสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 และมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินสินเชื่อ 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี (หรือ 1,000,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 100 บาท ต่อปี) ระยะเวลา 3 ปี และจากการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ได้มีข้อตกลงครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินการนำร่องโครงการเกษตรสร้างชาติอย่างต่อเนื่อง
รมช.กษ. ประพัฒน์กล่าวว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการเกษตรสร้างชาติ ภายใต้นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมจัดงาน “มหกรรมเกษตรสร้างชาติ” ขึ้น พร้อมทั้งเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหารือในวันนี้(วันที่ 6 มีนาคม 2563) เพื่อหารือแนวทางการจัดงาน พร้อมกำหนดกรอบโครงการเกษตรสร้างชาติให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อหนุนส่งเสริมการสร้างอาชีพทางเลือกให้กับเกษตรกร โดยจัดให้มีศูนย์ถ่ายทอด ศูนย์เรียนรู้ที่มีเมนูอาชีพสำหรับเกษตรกร ได้เลือกแบบหลากหลาย มีตลาดรองรับที่แน่นอน มีการสัมมนา การอบรม และการสาธิต รวมทั้งให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้ให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินในการเขียนแผนธุรกิจ เพื่อให้เป็นจุดบริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ณ หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย จังหวัดสุพรรณบุรี โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการปลายเดือน มีนาคม 2563 นี้ สำหรับประชาชน/ผู้ที่สนใจ ขณะนี้สามารถเข้าชมศูนย์เรียนรู้ด้านปศุสัตว์ อาทิ โค แพะ แกะ และไก่พื้นบ้านได้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
สำหรับ เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 7 ราย ซึ่งที่ผ่านมา…พบปัญหาของเกษตรกรหลายกลุ่มเขียนแผนธุรกิจไม่ผ่านเงื่อนไขของ ธ.ก.ส. ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ดังนั้นจึงได้หารือร่วมกันถึงเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งได้ดำเนินการปรับให้เหมาะสม และใช้พื้นที่ของหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย จ.สุพรรณบุรี เป็นแหล่งเรียนรู้ และขอยืนยันว่าไม่มีผลประโยชน์ใดๆในการใช้สถานที่สำคัญนี้ โดยพร้อมเปิดให้ใช้พื้นที่ฟรี!! บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากมีความเหมาะสมและเป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรเชิงท่องเที่ยว โดยเปิดให้ทุกหน่วยงานจัดนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้ในด้านการส่งเสริมตามโครงการเกษตรสร้างชาติทั้ง 4 ด้านในรูปแบบโมเดล นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประสานกับ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญ จะช่วยแนะนำให้ความรู้ในการเขียนโครงการธุรกิจ เพื่อขอสินเชื่อในการสนับสนุนอาชีพของเกษตรกรในด้านต่าง ๆ ให้ผ่านหลักเกณฑ์และได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม ซึ่งการจัดงานมหกรรมเกษตรสร้างชาติครั้งนี้ จะเน้นรูปแบบ One Stop Service คือ เกษตรกรมาเยี่ยมชมในงานนี้จะได้ทั้งความรู้ที่หลากหลายและแหล่งเงินทุนในการส่งเสริมอาชีพต่อไป