“ดีป้า” หนุนชุมชนท่าฉลอม ผุดโครงการมัคคุเทศก์ดิจิทัล เล่าประวัติ เรื่องราวที่มีเสน่ห์และน่าสนใจของสถานที่ มั่นใจดึงนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10

5 มีนาคม 2563, จังหวัดสมุทรสาคร – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ส่งเสริมสนับสนุน บริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ผุดโครงการ “มัคคุเทศก์ดิจิทัลที่ชุมชนท่าฉลอม” เพื่อเล่าประวัติเรื่องราวที่มีเสน่ห์และน่าสนใจของสถานที่ท่องเที่ยว 25 แห่ง เหมือนมีมัคคุเทศก์ส่วนตัวนำเที่ยว มั่นใจดึงนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10

ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ที่ผ่านมา ดีป้า ขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือ หรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท (depa Digital Transformation Fund for Community) มาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้กับ บริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ภายใต้โครงการ “มัคคุเทศก์ดิจิทัลที่ชุมชนท่าฉลอม” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำ digital content บอกเล่าประวัติเรื่องราวของสถานที่ท่องเที่ยว 25 แห่ง พร้อมติดป้าย QR Code บริเวณสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ทราบถึงประวัติเรื่องราวของสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ เหมือนกับมีมัคคุเทศก์เดินทางไปด้วย ตลอดจนมุ่งหวังให้คนในชุมชนท่าฉลอมมีส่วนร่วมช่วยกันดูแลสถานที่ท่องเที่ยว ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ด้าน ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม รองประธานกรรมการ บริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวว่า ท่าฉลอมเป็นชุมชนจีนที่เก่าแก่ และเป็นชุมชนประมงที่สำคัญในอดีต รวมทั้งยังเป็นสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของไทย จึงมีประวัติเรื่องราวในพื้นที่ที่มีเสน่ห์และน่าสนใจมากมาย แต่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเองโดยไม่มีมัคคุเทศก์ อาจไม่ทราบถึงประวัติเรื่องราวดังกล่าว ดังนั้นโครงการ “มัคคุเทศก์ดิจิทัลที่ชุมชนท่าฉลอม” จะช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถทราบถึงข้อมูลดังกล่าวในรูปแบบคลิปวิดีโอของสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่ง ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่าฉลอมเองโดยไม่มีมัคคุเทศก์เฉลี่ยประมาณ 300 คนต่อเดือน คาดว่าโครงการดังกล่าว ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการขายสินค้าและบริการของชุมชนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ ร้อยละ 5 ของรายได้จากการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ท่าฉลอม จะนำไปเข้าเป็นกองทุนพัฒนาชุมชนท่าฉลอม เพื่อไว้ใช้จ่ายในกิจกรรมหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนท่าฉลอมต่อไป

สำหรับมาตรการดังกล่าว มีผู้ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากทาง ดีป้า ไปแล้ว 40 โครงการทั่วประเทศ แบ่งเป็น ภาคกลาง 8 โครงการ, ภาคเหนือ 10 โครงการ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 โครงการ, ภาคใต้ 4 โครงการ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อีก 8 โครงการ ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของชุมชนในชนบท รวมถึงเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในทุกมิติ ทั้งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน, ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ, ความมั่นคงด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม, ความมั่นคงด้านการเกษตรอัจฉริยะ และความมั่นคงในสุขภาพ สุขภาวะที่ดีของชุมชน

—————————————–