สช. เร่งสานพลังเครือข่าย หนุนเสริมชุมชนป้องกัน COVID-19

สช.เร่งสานพลังเครือข่ายทุกภาคส่วนและสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั่วประเทศ หาแนวทางหนุนเสริมการป้องกันไวรัส COVID-19 นพ.ปรีดา แนะประชาชนปฏิบัติและรับข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก

วันที่ 4 มีนาคม 2563 ในรายการบอกเล่า 965 ออกอากาศทางคลื่นความคิด FM 96.5 ช่วง สานพลังสร้างสุขภาวะกับ สช. (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้แนะให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการและรับข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหลัก เพื่อรับมือไวรัส COVID-19 ขณะที่ทาง สช. จะทำหน้าที่ประสานภาคีเครือข่ายที่มีอยู่ทุกจังหวัด หาแนวทางร่วมกันต่อไป

นพ.ปรีดา กล่าวว่า ในแง่การแพทย์และการป้องกันนั้น สธ. มีแนวทางมาตรการชัดเจนอยู่แล้ว และยังประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามมาตรา 4 ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย และเพื่อยกระดับการเตรียมความพร้อม ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 แต่การมีมาตรการเข้มข้นและป้องกันล่วงหน้า ก็เพื่อชะลอการระบาดให้ช้าที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ต่อประเด็นที่ว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้แพทย์ทราบ ซึ่งมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ระบุไว้ว่า ข้อมูลด้านสุขภาพถือเป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ ท่ามกลางกระแสสังคมที่หวั่นกลัวเชื้อ COVID-19 ก็ยิ่งทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงเก็บตัวเงียบเพราะไม่ต้องการถูกรังเกียจ นพ.ปรีดา อธิบายประเด็นนี้ว่า

“ข้อมูลส่วนบุคคล ใครจะเอาไปเปิดเผยไม่ได้ แม้แต่แพทย์พยาบาลก็ทำไม่ได้ แต่สมมติเราเจ็บป่วยไม่สบาย มีโรคประจำตัว แล้วเราไม่บอก จะเป็นผลเสียต่อตัวเองอย่างยิ่ง เพราะเมื่อข้อมูลไม่ครบถ้วนการวินิจฉัยก็อาจผิดพลาด ถ้าไม่บอกว่าไปที่ไหนมา เป็นพื้นที่เสี่ยงไหม กว่าจะเจออาการก็มากแล้ว และอาจแพร่เชื้อสู่คนอื่นโดยไม่รู้ตัว การปกปิดข้อมูลกับแพทย์และโรงพยาบาลจึงไม่เป็นผลดีต่อใครเลย”

“แต่สังคมต้องเข้าใจว่า ไม่มีใครอยากเจ็บป่วย ถ้าติดเชื้อแล้ว การประณามหยามเหยียดไม่เป็นผลดีเช่นกัน ต้องเข้าใจ เห็นใจกัน ถ้าทุกฝ่ายพยายามช่วยเหลือไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย เฝ้าระวัง ช่วยเหลือกัน น่าจะเป็นส่วนที่ดีที่สุด และไม่พูดอะไรที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกหรือรังเกียจเดียดฉันท์ เพราะนั่นจะทำให้คนที่ไม่สบายไม่เปิดเผยตัวเองมากขึ้น และจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์”

ส่วนบทบาทของ สช. นั้น นพ.ปรีดา เปิดเผยว่า สช. กำลังหารือความร่วมมือกันในเรื่องนี้กับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ภาคียุทธศาสตร์ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงสมัชชาสุขภาพจังหวัด เพื่อร่วมกันวางมาตรการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รวมถึงการสื่อสารกับภาคีไม่ให้เกิดการตื่นตระหนกและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

“ที่เราทำอยู่คือ การสานพลัง พูดคุยแจ้งแนวทางไปยังภาคีเครือข่าย โดยเพิ่งพูดคุยกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เห็นตรงกันว่าถ้าร่วมมือกัน สื่อสารไปยังภาคี ภาคประชาสังคมในระดับจังหวัดและตำบลที่มีอยู่เป็นจำนวนมากเพื่อตั้งวงพูดคุยว่าในชุมชนจะช่วยเหลือกันอย่างไรได้บ้าง เช่น มีหลายกลุ่มที่ทำหน้ากากอนามัย เราก็อาจไปสนับสนุนให้กับกลุ่มด้อยโอกาสหรือกลุ่มเสี่ยง สร้างการรณรงค์และร่วมมือกันระดับจังหวัด ระดับตำบล ซึ่งทาง สช. มีภาคีสื่อสุขภาวะในเครือข่ายสื่อท้องถิ่นอยู่ และยังมีสมัชชาสุขภาพจังหวัดที่จะเคลื่อนไหวร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ตั้งวงพูดคุยและทำกิจกรรมที่ร่วมมือกัน หนุนเสริมกันและกัน”

“ในแง่ตัวบุคคล จะทำอะไรได้บ้าง พลังชุมชนสำคัญมาก รวมกลุ่มกัน พูดคุยกัน กิจกรรมที่ทำได้ก็ทำเลย หรือใครที่กลับจากพื้นที่เสี่ยงไปอยู่บ้าน ถ้าเราเข้าใจกันและกัน คนในชุมชนในพื้นที่ก็อาจช่วยเหลือสนับสนุน ให้คำแนะนำ ให้ข่าวสาร ผมว่าแบบนี้คนจะไม่แตกแยก กิจกรรมในชุมชนก็จะเกิดประโยชน์”

นพ.ปรีดา ย้ำด้วยว่าให้ประชาชนติดตามข่าวจากทางกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ข้อมูลใดที่ไม่แน่ใจว่าจริงหรือเท็จไม่ควรแชร์ต่อในโซเชียลมีเดีย เพื่อป้องกันความสับสน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า อัตราอาการรุนแรงและภาวะวิกฤตจะส่งผลต่อการใช้ทรัพยากรในการดูแลผู้ป่วยจำนวนมากและทำให้อัตราการหายต่ำ ทั้งยังมีการแพร่กระจายไปยังบุคลากรทางการแพทย์หลายประเทศก่อให้เกิดการขาดแคลนแพทย์ พยาบาลดูแลรักษาและต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันมากขึ้น ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ไวรัส COVID-19 เป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศต่างๆ  สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย กรมควบคุมโรคแถลงในวันที่ 5 มีนาคมว่า พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อเพิ่มอีก 4 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศอิตาลีและอิหร่าน ทำให้จำนวนผู้ป่วยสะสมในไทยเพิ่มเป็น 47 คน อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 31 ราย ยังรักษาตัวอยู่ใน โรงพยาบาล 15 ราย เสียชีวิต 1 ราย สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 1 รายที่รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว แต่ยังอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด