ลุ่มเจ้าพระยา ปริมาณน้ำต้นทุนมีอย่างจำกัด ขอทุกภาคส่วนใช้น้ำตามแผน ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน(5 มี.ค. 63) มีปริมาณน้ำรวมกัน 9,809 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯรวมกัน  มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 3,113 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของปริมาณน้ำใช้การได้

ปริมาณน้ำต้นทุนของ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้วางแผนจัดสรรน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 (มีแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง จำนวน 4,500 ล้าน ลบ.ม. เป็นลุ่มน้ำเจ้าพระยา 3,500 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง 1,000 ล้าน ลบ.ม.) ปัจจุบัน (5 มี.ค. 63) จัดสรรน้ำตามแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 3,159 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 70 ของแผนจัดสรรน้ำ ซึ่งดำเนินการควบคุมให้เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด ส่วนด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในวันนี้(5 มี.ค. 63) ยังคงการระบายน้ำในอัตรา 80 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศและผลักดันค่าความเค็มด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงปากอ่าวไทย

สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562 ได้วางแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 2.83 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 4 มี.ค. 63) ได้ทำการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 4.39 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 155 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้วรวม 0.95 ล้านไร่ แยกเป็นข้าวนาปรัง 3.91 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 169 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้ว 0.91 ล้านไร่ และพืชไร่-พืชผัก 0.48 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 92 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้ว 0.04 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกพืชเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนด้านการเกษตร แต่จากการสำรวจพบว่าบางพื้นที่ได้ทำการเพาะปลูกพืชนอกแผนฯ รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 2.01 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 0.64 ล้านไร่

ปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้อย จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำและจัดสรรการใช้น้ำตามแผนฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ทั่วถึงและเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค และการรักษาระบบนิเวศเป็นสำคัญ ในส่วนของปริมาณน้ำสำหรับการเพาะปลูกนั้น จึงมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้มีการเพาะปลูกในพื้นที่ ดังนั้น เกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ส่วนใหญ่จึงใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนและกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน ใช้น้ำตามแผนการจัดสรรน้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุด


ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ

กรมชลประทาน