แพทย์ชี้อุบัติเหตุทางตาเป็นปัญหาที่พบบ่อยและเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้สูญเสียดวงตา จากสถิติข้อมูลลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานของสำนักงานประกันสังคม ระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน 2561 มีลูกจ้างที่ประสบเหตุจนสูญเสียดวงตา เป็นจำนวน 3,480 ราย โดยอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ช่างเชื่อมเหล็ก ช่างไม้ ช่างก่อสร้าง มอเตอร์ไซด์รับจ้าง ช่างตัดหญ้า ผู้ที่ทำงานกับสารเคมี ฯลฯ แนะวิธีป้องกันก่อนสายเกินแก้
นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรมการแพทย์ห่วงใยประชาชนที่มีภาวะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บทางตาหรือบางรายอาจต้องสูญเสียดวงตาจากการทำงาน จากข้อมูลเวชสถิติของโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ในปี 2560 พบว่ามีผู้ป่วยที่มารักษาภายในโรงพยาบาลเพราะอุบัติเหตุทางตาจากการทำงาน เป็นจำนวนมากกว่า 200 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย โดยอาชีพที่พบว่าเสี่ยงสูง คือ อาชีพรับจ้าง อาทิ ช่างเชื่อมเหล็ก ช่างไม้ ช่างตัดหญ้า ฯลฯ ที่อาจทำให้มีสิ่งแปลกปลอมกระเด็นเข้าตาได้ อุบัติเหตุทางตาที่พบได้บ่อยอย่างหนึ่ง คือ สิ่งแปลกปลอมเข้าตา ซึ่งอาจเป็นเศษเหล็ก เศษแก้ว เศษไม้ ปีกแมลง หรือสารเคมี ซึ่งเมื่อเข้าสู่ตาอาจเกาะอยู่ที่ผิวนอกกระจกตาหรือเข้าไปฝังชั้นในของเนื้อกระจกตา อาจทะลุเข้าไปอยู่ภายในลูกตาหรือโดนกระแทกอย่างแรง ทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อภายในดวงตาที่รุนแรง ทั้งนี้จากสถิติข้อมูลลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ของสำนักงานประกันสังคม ระหว่างเดือน มกราคม – เมษายน 2561 จำนวน 26,142 ราย พบประเภทกิจการหมวดการผลิตประสบอันตรายสูงสุด รองลงมา ได้แก่ หมวดการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ และก่อสร้าง ตามลำดับ ส่วนกรณีประสบเหตุจนสูญเสียอวัยวะสูงสุด คือ นิ้วมือ รองลงมา คือ ตา และบาดเจ็บหลายส่วน
แพทย์หญิงสายจินต์ อิสีประดิฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า อุบัติเหตุทางตาสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการทำงาน การขับขี่ ที่พบบ่อยมักเป็นพวกเศษเหล็ก เศษไม้ เศษพลาสติก ทราย ซึ่งหากประสบเหตุไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนมีอาการมาก อาจทำให้ติดเชื้อที่รุนแรง ควรไปพบแพทย์ ซึ่งการรักษาแพทย์จะนำสิ่งแปลกปลอมออกจากกระจกตาและให้ยาปฏิชีวนะหยอดต่อจนกว่าผิวกระจกตาจะกลับมาเป็นปกติ ในรายที่มีการติดเชื้อร่วมด้วยอาจต้องให้ยาปฏิชีวนะในระยะยาว และบริเวณที่เคยมีการติดเชื้อ เมื่อหายแล้วมักเกิดเป็นแผล เป็นฝ้าขาวที่กระจกตาดำได้ อุบัติเหตุส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้ ขอให้ทุกคนตระหนักถึงความปลอดภัย ในสถานประกอบการหรือโรงงานควรมีการอบรม ให้ความรู้เรื่องการป้องกันและการดูแลรักษาเบื้องต้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางตาแก่พนักงาน ควรสวมใส่แว่นตาหรืออุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมขณะปฏิบัติงานจนเป็นนิสัย เพื่อป้องกันภาวะเสี่ยงจากการทำงาน หรือหากเกิดการบาดเจ็บทางตาไม่ควรขยี้ตา เพราะอาจทำให้อาการบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้นและไม่ควรทิ้งไว้ ทั้งนี้หากพบว่าการมองเห็นมัวลงจากปกติ มีอาการระคายเคืองล้างตาแล้วไม่หาย มีอาการปวดตามาก ขี้ตาเยอะ ตาสู้แสงไม่ได้ มีเลือดออกในลูกตาซึ่งจะเห็นเป็นสีแดงที่ตาดำ มีของเหลวใสไหลออกมาจากลูกตา ควรรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่มากขึ้นหรือติดเชื้อจนนำไปสู่การสูญเสียดวงตา