สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3 กรมพัฒนาที่ดิน จัดโครงการอบรมหมอดินอาสา 4.0 ปีงบประมาณ 2563 ครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ รวม 500 คนระหว่างวันที่ 4 – 5 มีนาคม 2563 ณ ศูนย์ประชุมสตาร์เวลล์ บาหลี จังหวัดนครราชสีมา
กรมพัฒนาที่ดิน มีนโยบายจัดตั้งเครือข่ายหมอดินอาสามาตั้งแต่ปี 2538 ปัจจุบันมีหมอดินอาสาทั่วประเทศกว่า 75,000 คน ซึ่งเป็นผู้ช่วยกรมพัฒนาที่ดิน ในการกระจายข้อมูลการพัฒนาที่ดินไปยังหมู่บ้านต่างๆ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ที่ดินที่เหมาะสมผ่านศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดิน ไปสู่เกษตรกรในพื้นที่ … ซึ่งในปี 2562 กรมพัฒนาที่ดินมีการประกาศเจตนารมณ์เป็นองค์กร 4.0 จึงมีแนวคิดในการพัฒนาการอบรมหมอดินอาสา ให้ตัวหมอดินอาสาได้เป็น Smart Farmer จึงได้จัดโครงการอบรมหมอดินอาสา 4.0 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ 1. สร้างเครือข่ายหมอดินอาสาสาขาวิชาการต่างๆ 2. เรียนรู้การใช้ข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมพัฒนาที่ดิน 3. ถอดบทเรียน เพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์หมอดินถามตอบ 4. สร้างองค์ความรู้ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงในพื้นที่ โดยแบ่งหลักสูตรฯ ดังนี้ 1) การทบทวนความรู้และบทบาทหน้าที่ของหมอดินอาสา 2) การเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของกรมพัฒนาที่ดินจากถังความรู้หมอดินอาสา (Knowledge tank) เรียนรู้ Chatbot คุยกับหมอดิน 3) การสร้างกระบวนการกลุ่มและถอดบทเรียน จำนวน 10 กลุ่ม ได้แก่ การทดแทน 3 สารเคมีทางการเกษตร, การปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์, เกษตรอินทรีย์, การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมตามแผนที่เกษตรเชิงรุก, เกษตรปลอดภัย, การบริหารจัดการภัยแล้งในพื้นที่, การบริหารจัดการในพื้นที่ดินเค็ม, การบริหารจัดการในพื้นที่ดินทราย, การบริหารจัดการในพื้นที่ดินดาน และธนาคารน้ำใต้ดิน จากนั้นจึงนำไปสู่การนำเสนอแบะสรุปบทเรียนเพื่อเป็นแนวทางการใช้ประโยชน์จากความรู้ที่ได้รับ และสร้างเครือข่ายโดยตัวแทนหมอดินอาสาแต่ละกลุ่ม
นายศรจิตร ศรีณรงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3 เปิดเผยว่า … “กรมพัฒนาที่ดิน คาดหวังว่าผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะสามารถสร้างเครือข่ายหมอดินอาสาสาขาวิชาการต่างๆ สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของกรมพัฒนาที่ดินในพื้นที่และแนะนำเกษตรกรในพื้นที่ ได้บทเรียนเพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์หมอดินถามตอบ ได้แบบจำลองหรือถอดบทเรียนองค์ความรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในแต่ละพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เพื่อเป็นต้นแบบบนพื้นที่เกษตรกรรม ถ่ายทอดสู่เกษตรกรในหมู่บ้านเดียวกัน และเผยแพร่ขยายผลไปยังเกษตรกรรายอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป”