สวรส. เดินหน้าวิจัย “ประเมิน-ติดตาม” นโยบายผู้ป่วยรับยาร้านยา มุ่งเป้าพัฒนาระบบยาในสิทธิบัตรทอง ลดแออัด รพ.-เพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วย

ความแออัดในโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ที่ทำให้ผู้ป่วยรอรับบริการนาน ยังคงเป็นปัญหาในระบบบริการสุขภาพ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลจำนวนผู้ป่วยนอกที่เข้ารับบริการในสถานบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศมีจำนวน 152,428,645 ครั้ง/ปี ในปี 2552 และเพิ่มสูงขึ้นทุกปีถึง 220,063,238 ครั้ง/ปี ซึ่งความแออัดส่งผลต่อระยะเวลาในการรอรับบริการ การเข้าถึงการตรวจรักษา คุณภาพในการให้บริการ และความพึงพอใจของผู้รับบริการหรือผู้ป่วย ดังนั้นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงเห็นชอบให้มีโครงการนำร่อง “ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล” ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งในการลดความแออัด โดยลดระยะเวลาจากขั้นตอนการรับยา นอกเหนือไปจากมาตรการลดจำนวนผู้ป่วย โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องรอรับยาเป็นเวลานานและได้รับคำแนะนำการใช้ยาอย่างมีคุณภาพ

ซึ่งในระยะแรกจะดำเนินการพัฒนาระบบบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยตั้งเป้านำร่องในโรงพยาบาล 50 แห่ง และเครือข่ายร้านขายยาคุณภาพ 500 แห่งทั่วประเทศ และกำหนดขอบเขตการจ่ายยาให้ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด จิตเวช หรือโรคเรื้อรังที่ไม่มีความซับซ้อนในการดูแล และขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ป่วยที่จะรับยาที่ร้านยา ทั้งนี้ยาที่ผู้ป่วยได้รับจากร้านยาต้องเป็นยาเดียวกับที่ได้รับจากโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าบริการเพิ่มเติม ส่วนการดำเนินงานระหว่างโรงพยาบาลและร้านยา กำหนดเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 โรงพยาบาลเป็นผู้จัดยาสำหรับผู้ป่วยรายบุคคลและส่งให้ร้านยาเพื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วย รูปแบบที่ 2 โรงพยาบาลนำยาไปสำรองไว้ที่ร้านยา เป็นเหมือนคลังยาของโรงพยาบาล และให้ร้านยาเป็นผู้จ่ายยาให้ผู้ป่วยรายบุคคลตามใบสั่งยาของแพทย์ และรูปแบบที่ 3 ร้านยาเป็นผู้จัดซื้อยาและสำรองยา จ่ายยาให้กับผู้ป่วย แล้วเบิกค่ายาจากโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลกำหนดราคายามาตรฐานให้กับร้านยา ทั้งนี้กำหนดให้มีค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ให้กับร้านยา 70 บาทต่อครั้ง (อ้างอิงตามประกาศค่าบริการกระทรวงสาธารณสุข ปี 2560) และค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ให้กับหน่วยบริการที่ร่วมกับร้านยา เหมาจ่ายอัตรา 33,000 บาทต่อร้านยา 1 แห่งต่อปี ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไปที่มีความพร้อมมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562

จากนโยบายดังกล่าว สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อติดตามประเมินผลโครงการนำร่อง โดยสนับสนุนการศึกษาวิจัยการประเมินผลโครงการนำร่องให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านขายยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล และโครงการประเมินต้นทุนโครงการนำร่องให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ดำเนินการโดยทีมวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) และทีมวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ 13 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการที่เหมาะสมของโครงการนำร่องฯ และเกิดผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดีกับผู้ป่วย โดย สวรส. ได้จัดประชุมคณะกรรมการวิเคราะห์ข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายและติดตามผลการดำเนินการนโยบายให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการวิจัยฯ พร้อมศึกษาดูงานกระบวนการรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลสระบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลนำร่องที่เลือกการดำเนินงานตามรูปแบบที่ 2

ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า การติดตามประเมินผลโครงการนำร่องฯ ตามนโยบายให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล นับเป็นการเรียนรู้เพื่อรวบรวมข้อมูลที่จะนำไปจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อปรับระบบการดำเนินงานในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดประโยชน์ทั้งกับผู้รับบริการและผู้ให้บริการมากที่สุด

ซึ่งงานวิจัยจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่นำไปสู่การหาจุดสมดุลที่ทุกฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เป้าหมายหลักของนโยบายให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดจากจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มที่เป็นโรคไม่ซับซ้อนและต้องใช้เวลาในการรับยาค่อนข้างนาน แต่มากไปกว่านั้นคือการพัฒนาระบบในมุมมองเชิงบทบาทหน้าที่วิชาชีพ เนื่องจากการบริบาลทางเภสัชกรรมไม่ใช่เพียงการจ่ายยาตามใบสั่งยาเท่านั้น แต่มุ่งให้เภสัชกรคำนึงถึงตัวผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยทำให้ประชาชนมีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยจากการใช้ยา ซึ่งงานวิจัยของ สวรส. ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ด้วยเป็นสำคัญ

ดร.รุ่งนภา คำผาง นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้นำเสนอข้อมูลสถานการณ์การรับบริการของผู้ป่วยนอกเริ่มต้นตั้งแต่เวชระเบียนคัดกรองผู้ป่วย รอพบแพทย์ พบแพทย์ รอรับยาและรับยา ซึ่งขั้นตอนที่ใช้เวลานานคือขั้นตอนรอพบแพทย์ 10-67 นาที และขั้นตอนรอรับยา 17-60 นาที โดยข้อมูลสถานการณ์ด้านกฎหมายพบว่า ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 นั้ รูปแบบที่ 1 สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 รูปแบบที่ 2 อนุมัติให้ดำเนินการได้โดยร้านยา ซึ่งต้องมีการลงบัญชีควบคุมพัสดุ แยกเป็นรายการและเก็บให้เป็นระเบียบ ครบถ้วน ถูกต้อง และสามารถตรวจสอบได้ รูปแบบที่ 3 ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หากจะดำเนินการตามรูปแบบนี้ โรงพยาบาลต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องการจ่ายเงินให้ร้านยา

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสระบุรี ได้ดำเนินการให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลตามรูปแบบที่ 2 โดยมีเครือข่ายร้านยาร่วมโครงการ 15 ร้าน ในกลุ่มยาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และจิตเวช โดยมีแผนเพิ่มยาโรคต้อหิน-ตาแห้ง

ในระยะต่อไป ซึ่งมูลค่ายาที่สำรอง 8,327 บาท/ 1 ร้าน รวม 15 ร้าน 124,905 บาท โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยคัดกรองผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ในการสั่งยา และการทำงานของพยาบาลหลังการตรวจ รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยของร้านยา และระบบการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างเภสัชกรในโรงพยาบาลและเภสัชกรชุมชน เพื่อการส่งต่อและดูแลสุขภาพผู้ป่วยแบบครบวงจร ซึ่งหลังจากดำเนินงานได้ 4 เดือน พบว่า มีผู้ป่วยสมัครใจเข้าร่วมโครงการและรับยาสำเร็จ แผนกอายุรกรรม 16 คน แผนกสุขภาพใจ 51 คน