การเคหะแห่งชาติ (กคช.) สนองนโยบายรัฐบาล (Government Policy) ตามหลักประชารัฐ-ไทยนิยมยั่งยืน และขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติโดยร่วมดำเนินการกับภาคเอกชน ภายใต้“โครงการเคหะประชารัฐร่วมทุน”
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยให้มีกรรมสิทธิ์เป็นของตนเอง อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานของสังคมได้ ในปัจจุบันการเคหะแห่งชาติมีที่ดินรอการพัฒนาที่มีศักยภาพพร้อมให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาโครงการให้เกิดมูลค่าเพิ่มเชิงรายได้ ภายใต้โครงการเคหะประชารัฐร่วมทุนตามยุทธศาสตร์ของการเคหะแห่งชาติ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันระหว่างการเคหะแห่งชาติกับภาคเอกชนและประชาชน ลูกค้าผู้ต้องการที่อยู่อาศัย ซึ่งการจัดทำโครงการเคหะประชารัฐร่วมทุนเป็นการบูรณาการ ด้านนโยบายทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน โดยมีเอกชนเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินเข้ามาลงทุนภาคก่อสร้าง พร้อมการบริหารจัดการโครงการในลักษณะของการร่วมดำเนินกิจการ
ทั้งนี้ กรอบแนวคิดในการจัดทำโครงการเคหะประชารัฐร่วมทุนของการเคหะแห่งชาติ สำหรับโครงการที่ไม่เข้าข่ายพระราชบัญญัติ (พรบ.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ซึ่งการเคหะแห่งชาติดำเนินโครงการภายใต้ พรบ. การเคหะแห่งชาติ และระเบียบการเคหะแห่งชาติ ว่าด้วยการร่วมลงทุนซึ่งมีเกณฑ์การพิจารณาให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินกิจการ 3 รูปแบบ ประกอบด้วย
การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Joint Investment) ตาม พรบ.ร่วมทุนฯ มูลค่าโครงการตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งขณะนี้ได้รับอนุมัติในหลักการจากคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติแล้ว 3 โครงการ ได้แก่ โครงการเคหะชุมชนเชียงใหม่ (หนองหอย) บนเนื้อที่ 52 ไร่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โครงการร่มเกล้าคอนเน็คชั่น บนที่ดิน 128.96 ไร่ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ และโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงระยะที่ 3 และ 4 รองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสวัสดิการข้าราชการและเชิงพาณิชย์บนที่ดิน 136 ไร่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ และโครงการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยข้าราชการและเชิงพาณิชย์บนเนื้อที่ 118 ไร่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี
โครงการร่วมดำเนินกิจการระหว่างภาครัฐและเอกชน (Joint Operation) มูลค่าโครงการต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท การเคหะแห่งชาติจะดำเนินโครงการภายใต้ข้อบังคับ และระเบียบของการเคหะแห่งชาติ โดยการเคหะแห่งชาติได้คัดเลือกพื้นที่โครงการนำร่องไว้ 5 พื้นที่ ได้แก่ พัทยา (เทพประสิทธิ์) ปทุมธานี (แยกปทุมวิไล) นนทบุรี (ประชานิเวศน์ 3) สมุทรปราการ (บางปู) และเชียงใหม่ (หนองหอย 2) พื้นที่ราวโครงการละ 5 – 20 ไร่
โครงการร่วมสนับสนุนภาคเอกชน (Joint Supporting) การเคหะแห่งชาติเป็นพี่เลี้ยง (Consultant) ให้กับภาคเอกชน โดยจะเป็นที่ปรึกษาด้านการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและบริหารจัดการงานก่อสร้าง ซึ่งการเคหะแห่งชาติจะพิจารณาทำเลที่ตั้งโครงการ ความเป็นไปได้ด้านการตลาด กายภาพ และการเงิน รวมทั้งประสานกับสถาบันการเงิน ซึ่งเบื้องต้นมี 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารกรุงไทย พร้อมให้การสนับสนุนลงนามความร่วมมือ (MOU) ในเดือนกรกฎาคม 2561 นี้ คาดว่าในระยะแรกจะคัดเลือกราว 20 – 30 โครงการ เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน
อนึ่ง โครงการเคหะประชารัฐร่วมทุนจะช่วยกระตุ้นภาคเศรษฐกิจ เป็นการลดการใช้งบประมาณของรัฐ หรือลดการก่อหนี้สาธารณะลง ส่งผลต่อแผนการขับเคลื่อนความร่วมมือกับภาคเอกชนของการเคหะแห่งชาติใน
การยกระดับขีดความสามารถขององค์กรจากนักพัฒนา/ผู้จัดหาภาครัฐ (Public Developer) เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facililator) และเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ (Regulator)ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประเทศต่อไป