‘พาณิชย์’ เจรจา FTA ไทย – ศรีลังกา รอบแรก คืบหน้าด้วยดี พร้อมดันการค้าขยายตัว 3 เท่า ในปี 2563

การเจรจา FTA ไทย – ศรีลังกา รอบแรก คืบหน้าด้วยดี คาดช่วยสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของสินค้าไทย อาทิ กลุ่มยานยนต์ เครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้า ในตลาดศรีลังกามากขึ้น พร้อมดันการค้าขยายตัวสู่เป้า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563  

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีศรีลังกาได้ประกาศเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของสองประเทศ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 ในช่วงการเดินทางเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการของผู้นำไทย ทั้งสองประเทศได้จัดให้มีการประชุมเจรจา FTA ไทย-ศรีลังกา รอบแรก ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 โดยมีอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย และ นาย เค เจ วีระสิงห์ ที่ปรึกษากระทรวงยุทธศาสตร์และการค้าระหว่างประเทศศรีลังกา เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายศรีลังกา โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปให้เริ่มการเจรจาใน 13 ประเด็น อาทิ การค้าสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า มาตรการสุขอนามัย การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ตลอดจนได้ตกลงตั้งคณะทำงาน (Working Groups) ขึ้น 9 คณะ สำหรับเจรจาประเด็นเทคนิคต่างๆ รวมทั้งกำหนดปฏิทินการเจรจาในอนาคต โดยตกลงที่จะประชุมกันทุกๆ 2 – 3 เดือน และตั้งเป้าที่จะสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปี 2563 ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าสองฝ่ายจาก 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563 ตามที่ทั้งสองประเทศตั้งเป้าไว้

นางอรมน เสริมว่า หลังจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะต้องแลกเปลี่ยนสถิติทางการค้า อัตราภาษี กฎระเบียบทางการค้าระหว่างกัน ตลอดจนร่างข้อบทในเรื่องต่างๆ เพื่อใช้ในการเจรจา FTA ไทย – ศรีลังกา ครั้งที่ 2 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ ในเดือนกันยายน 2561 ซึ่งคาดว่าการเจรจาจัดทำ FTA ไทย – ศรีลังกา จะเป็นประโยชน์ต่อไทย เนื่องจากจะช่วยสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดศรีลังกา จากการลดเลิกภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี โดยสินค้าศักยภาพของไทยที่น่าจะได้ประโยชน์ อาทิ สินค้ากลุ่มยานยนต์ เครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ น้ำตาล และพลาสติก เป็นต้น

ทั้งนี้ ศรีลังกาถือเป็นตลาดใหม่ในภูมิภาคเอเชียใต้ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 6 ต่อปี มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศที่ทันสมัย และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อผลักดันศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางทะเล (Marine Hub) ที่สามารถเชื่อมโยงสู่ยุโรป อเมริกาเหนือ และแอฟริกา พร้อมกันนี้ ศรีลังกายังมีวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเป็นฐานการผลิตและการลงทุนของไทยในหลายอุตสาหกรรมศักยภาพ อาทิ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร การประมง อัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เนื่องจากศรีลังกามีลักษณะทางภูมิประเทศที่สวยงาม ประกอบกับมีสถาปัตยกรรมสมัยอาณานิคมที่สมบูรณ์ และเป็นสถานที่ประดิษฐานของพระเขี้ยวแก้ว จึงทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาศรีลังกาเพิ่มขึ้นทุกปี

ในปี 2560 ศรีลังกาเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยการค้าระหว่างไทยและศรีลังกามีมูลค่า 512.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 8.7 โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา 442.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากศรีลังกา 70.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

——————————-

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์