นายกฯ มอบนโยบายจัดการภัยแล้งและเก็บน้ำฤดูฝนปี 63 ดึงทุกภาคส่วนร่วมแก้ปัญหาท่วมแล้งอย่างยั่งยืน

วันที่ 2 มีนาคม 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมชี้แจง มอบนโยบายการบริหารจัดการภัยแล้งและเตรียมการเก็บน้ำฤดูฝนปี 2563 โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์  อธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมงานและรับฟังนโยบาย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ 

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 62/63 อย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ จำนวน 447 แห่ง ปัจจุบัน(2 มี.ค.63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 41,266 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 17,516 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 34 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

ส่วนสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 9,866 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 3,170 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของปริมาณน้ำใช้การได้ สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562 ทั้งประเทศ ล่าสุด(2 มี.ค.63) มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 11,204 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 63 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 3,089 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 69 ของแผนฯ

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้มีการเตรียมพร้อมทางด้านเครื่องจักร-เครื่องมือ เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งได้ตลอดเวลา อาทิ เครื่องสูบน้ำ 1,935 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 106 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ อีกกว่า 2,000 หน่วย ซึ่งกระจายอยู่ตามสำนักงานชลประทาน โครงการชลประทาน และศูนย์เครื่องจักรกลของกรมชลประทานทั่วประเทศ

ด้านการเตรียมการมือกับฤดูฝน ปี 2563 นั้น ที่ผ่านมากรมชลประทาน ได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำให้มากขึ้น ซึ่งในช่วงฤดูฝนปี 2563 นี้ มีโครงการชลประทานที่สามารถเก็บกักน้ำได้รวมทั้งสิ้น 1,222 รายการ  เก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นรวม 311.74 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 178,268 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 1.42 ล้านไร่ สอดคล้องกับรัฐบาลที่มีนโยบายเร่งรัดการจัดทำแหล่งเก็บน้ำเพื่อเก็กกักน้ำในฤดูฝนนี้ให้ได้มากที่สุด สำหรับสำรองน้ำไว้ใช้ในอนาคตอย่างไม่ขาดแคลน

ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบแนวทางดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม ให้ดำเนินการแล้วเสร็จในเวลาที่กำหนด ช่วยเหลือประชาชน ได้อย่างทันท่วงที พร้อทั้งตรวจสอบสภาพอาคารควบคุมน้ำ สำหรับการเก็บกักน้ำ วางแผนจัดการน้ำฤดูฝน คาดการณ์การใช้น้ำไปจนถึงฤดูแล้งหน้า พร้อมกำชังจังหวัดกำกับดูแลบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ แจ้งเตือนประชาชนให้เข้าใจถึงสถานการณ์น้ำ และร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย


กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์