สานพลัง มุ่งสู่ “Zero Discrimination” เพื่อเทิดพระเกียรติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ในฐานะทูตสันถวไมตรี โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย เทิดพระเกียรติพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ในฐานะทูตสันถวไมตรีของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ สานพลังรณรงค์ยุติการเลือกปฏิบัติ ยุติเอดส์

วันที่ 1 มีนาคม 2563 ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จมาทรงเป็นประธานงานสัมมนาเส้นทางมุ่งสู่ “Zero Discrimination อันเนื่องมาจากเอดส์ในประเทศไทย” ในวันลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ เพื่อเทิดพระเกียรติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เนื่องในโอกาสที่ได้ทรงรับการถวายตำแหน่ง UNAIDS Goodwill Ambassador for HIV Prevention for Asia and the Pacific โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเฝ้ารับเสด็จ

นายอนุทิน กล่าวว่า วันที่ 1 มีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์สากลเพื่อการยุติการเลือกปฏิบัติ ให้สังคมปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ โดยประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะยุติปัญหาเอดส์ ภายในปี 2573 เป้าหมาย คือ ลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ปีละไม่เกิน 1,000 ราย ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีปีละไม่เกิน 4,000 ราย และลดการเลือกปฏิบัติจากเอชไอวีและเพศสภาวะลงร้อยละ 90 ปัจจุบันยังพบปัญหาการตีตราและเลือกปฏิบัติ ทั้งที่เกี่ยวกับการเข้าทำงาน การศึกษาต่อ การใช้บริการทางการแพทย์ การอาศัยร่วมกับผู้อื่นในชุมชน ความเท่าเทียมทางเพศ การเลือกปฏิบัติต่อเด็กและสตรี รวมถึงผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี หญิงข้ามเพศ พนักงานบริการหญิง ผู้หญิงที่ใช้ยาเสพติด ผู้ต้องขังหญิง และผู้หญิงกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ เช่น เยาวชน ส่งผลกระทบความสัมพันธ์ในครอบครัว ชุมชน และสังคม

สำหรับการสัมมนาในวันนี้ เป็นการเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ Stigma Talk ก้าวสู่สังคมที่ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ และเส้นทางมุ่งสู่ “Zero Discrimination” ให้เป็นจริงในประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ทำงาน ให้เกิดการแก้ไขและขจัดการเลือกปฏิบัติอย่างจริงจัง อาทิ มาตรการทางกฎหมาย ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับ การยุติให้สังคมปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วนคือ 1. สถานบริการสุขภาพเอื้อต่อการมารับบริการ 2. การไม่ตีตราตนเองในผู้ติดเชื้อเอชไอวี 3. สังคมเปิดใจและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวีหรือเอดส์ว่าอยู่ร่วมกันได้ และให้โอกาสผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้มีสิทธิ มีศักดิ์ศรี และมีความเป็นมนุษย์ อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นความท้าทายของการดำเนินงานของประเทศไทย นอกเหนือจากเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาเอดส์ได้สำเร็จ

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกแห่งร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์วันยุติการเลือกปฏิบัติ เพื่อร่วมสร้างกระแสสังคม กระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เปิดใจ ยอมรับ และให้โอกาสผู้มีเชื้อเอชไอวีได้มีสิทธิ มีศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมกัน เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ ด้วยการ “สานพลัง ยุติการเลือกปฏิบัติ (Thailand Partnership for Zero Discrimination)”