นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “Durian to Go” By สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก ซึ่งการจัดงานดังกล่าวจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2563 ณ อาคารขนถ่ายสินค้า องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีว่า ภาคตะวันออกนับเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญของประเทศ และขึ้นชื่อในเรื่องของความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งความเข้มของรสชาติ และออกสู่ตลาดก่อนภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย จึงเป็นที่นิยมของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันพื้นที่ปลูกทุเรียนภาคตะวันออกมีมากกว่า 700,000 ไร่ ปริมาณผลผลิตมีมากกว่า 500,000 ตัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากสถานการณ์การขยายตัวของพื้นที่การปลูกทุเรียนในประเทศมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 20 และมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15-20 มีการขยายพื้นที่ปลูกเกือบทั่วประเทศ ประมาณ 45 จังหวัด ประกอบกับประเทศจีนรับซื้อผลผลิตทุเรียนจากไทยร้อยละ 80 ได้เริ่มกำหนดมาตรการการส่งออก การซื้อขายที่เข้มงวดมากขึ้น และสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงมีผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตทุเรียน และคาดว่าอาจจะมีโอกาสเกิดปัญหาในอนาคตกับทุเรียนไทยได้ ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนทุเรียนส่วนใหญ่มีการผลิตทุเรียนที่นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ค่อนข้างมาก มีทั้งเป็นผู้ชำนาญการและเกษตรกรรายใหม่ ๆ ที่ยังขาดความรู้ในการจัดการสวนทุเรียนให้มีคุณภาพ ดังนั้น การที่จะทำให้การขับเคลื่อนทั้งกระบวนการผลิต จึงควรเกิดจากความเข้มแข็งของเกษตรกร
กรมส่งเสริมการเกษตรได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยขึ้น และได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 สำหรับภาคตะวันออก ได้คัดเลือกคณะกรรมการสมาพันธ์ฯ จากเกษตรกรแปลงใหญ่ทุเรียนใน 6 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา มีนายธีรภัทร อุ่นใจ เป็นนายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนเพื่อให้สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกเข้มแข็ง จนสามารถเป็นที่พึ่งพาและเป็นฐานการขับเคลื่อนให้การพัฒนาทุเรียนเป็นไปอย่างมีระบบ เป็นตัวแทนภาคเกษตรกรในการเป็นสื่อกลางประสานงานกับภาครัฐสำหรับให้การสนับสนุนการบริหารจัดทุเรียนอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การจัดการสวน การจัดการเก็บเกี่ยว การรักษาคุณภาพและมาตรฐานผลผลิตทุเรียน การจัดการตลาดที่สามารถกำหนดราคาได้อย่างยุติธรรม การสร้างมูลค่าเพิ่มและผลักดันผลผลิตสู่กระบวนการแปรรูปให้มากขึ้น และการพัฒนาเกษตรกรชาวสวนสมาชิกให้มีความรู้และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ที่สอดคล้องและเท่าเทียม
การจัดงาน “Durain to Go” by สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก ภายใต้ Concept “พัฒนาทุเรียนไทย ก้าวไกลสู่สากล” เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสมาพันธ์ฯ และภาครัฐ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร และองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี และเป็นการเปิดตัวสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกอย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างเครือข่ายขยายจำนวนสมาชิกฯ ในการขับเคลื่อนอย่างมั่นคงต่อไป กิจกรรมหลักในงานประกอบด้วย 1) การเปิดตัวสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกอย่างเป็นทางการ 2) การจัดแสดงนิทรรศการและนวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการทุเรียนจากทุกภาคส่วน 3) การเสวนาเรื่อง “ผ่าทางตัน ดับปัญหาทุเรียนอ่อน” และ “พัฒนาทุเรียนไทย ก้าวไกลสู่สากล” จากผู้แทนสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เจ้าหน้าที่จากสำนักกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี ตัวแทนเกษตรกรจากสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียน และผู้เชี่ยวชาญด้านทุเรียน 4) การจำหน่ายสินค้าเกษตรและอุปกรณ์เครื่องมือทางการเกษตร 5) การรับสมัครสมาชิกและเครือข่ายสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก
โอกาสนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามการจัดทำบันทึกข้อตกลง “ไม่ซื้อไม่ขายสินค้าเกษตรด้อยคุณภาพ” โดยนายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ร่วมกับ ประธานสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด เกษตรจังหวัดจันทบุรี พาณิชย์จังหวัดจันทบุรี นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดจันทบุรี ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนตลาดค้าส่งสินค้าเกษตร และผู้แทนประกอบการแผงค้าปลีก
นายธีรภัทร อุ่นใจ นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก กล่าวว่า หลังจากตั้งสมาพันธ์ฯ ได้ร่วมกันกำหนดและจัดทำยุทธศาสตร์ โดยมีวิสัยทัศน์ คือ “พัฒนาทุเรียนไทย ก้าวไกลสู่สากล” และขับเคลื่อนการดำเนินงาน ดังนี้ 1) ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกร้อยละ 80 ได้รับการรับรองมาตรฐานกระบวนการผลิต (GAP) จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายในปี 2564 2) ปริมาณการส่งออกผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 ต่อปี ภานในปี 2565 3) ผลักดันช่องทางการตลาดใหม่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การเข้าถึง และการจำหน่ายตรงถึงผู้บริโภค 4) ผลักดันการแปรรูปทุเรียนเพื่อการส่งออกและมีมูลค่าเพิ่มอย่างแท้จริง 5) เพิ่มสมาชิกจำนวนสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก ร้อยละ 20 ต่อปี จากจำนวนสมาชิกเดิม โดยดำเนินการภายใต้สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ให้ทุเรียนเป็นต้นแบบการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ จนสามารถกำหนดราคา มาตรฐานผลผลิต และปริมาณผลผลิตที่สอดคล้องกับตลาดในภาพรวมของประเทศไทย