สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : ชะลูด พืชหอมเป็นยา

ชะลูด (ตั้งตุ่น)

ชื่อวิทยาศาสตร์​ Alyxia schlechteri H. Lev.

ชื่อทั่วไป ​ชะลูดช่อสั้น(ภาคกลาง) ตั้งตุ่นขาว(อุบล) อ่ำไอตัวเมีย(เลย) โจด(เขมร) ยางหอม(ขอนแก่น)

ตั้งตุ่น ชะลูดเชื้อชาติอิสาน เปลือกหอมทนทาน นานชั่วคน

เดินป่าดงดานแถบอิสานมักมีเสน่ห์ในความร้อนแล้งอย่างไม่อาจจะบรรยาย ทุกๆ หน้ามีเสน่ห์ที่แตกต่างกันออกไป พอปลายฝนดอกไม้ที่ขึ้นตามดินทรายแข่งกันบานสะพรั่ง เพื่อทิ้งเม็ดพันธุ์ไว้ให้ฤดูฝนใหม่ในปีต่อไป ย่างเข้าหน้าแล้งดอกรัง ดอกคำ ดอกอาราง ดอกแพง ซึ่งเป็นไม้ใหญ่ก็ออกดอกเหลืองๆ แดง เต็มไปหมด ​ในทุกหน้าของการเดินป่าอิสานจะมีกลิ่นหอมเฉพาะคล้ายกับกลิ่นของดอกซ่อนกลิ่น เป็นกลิ่นของไม้เถาเล็กๆ ขนาดของเถาประมาณ 1-1.5 ซ.ม. เปลือกเถาจะออกสีขาวลักษณะเด่นคือใบจะออกตามเปราะของเถาเปราะละ 3 ใบ คนอิสานเรียกเจ้าไม้เถาหอมนี้ว่า “ตั้งตุ่น” ชื่อตั้งตุ่นออกจะแปลกสำหรับคนภาคอื่นแต่ในบรรดาหมอยาอิสานจะเป็นที่รู้จักกันดี เพราะในใบลานเก่าๆ ของอิสานก็มีชื่อสมุนไพรต้นนี้อยู่

ตั้งตุ่นเป็นพี่น้องฝาแฝดกับพืชหอมที่คนภาคกลางรู้จักดีคือ “ชะลูด” ถ้าไม่ออกดอกก็ยากที่แยกได้ว่าต้นไหนเป็นตั้งตุ่นต้นไหนเป็นชะลูด กล่าวคือดอกตั้งตุ่นดอกเล็กกว่าดอกของชะลูดมาก นับเป็นความช่างสังเกตุของนักพฤกษศาสตร์ที่ทำให้เราต้องมีต้นไม้ที่หน้าตาเกือบจะเหมือนกัน มีสรรพคุณทางยาและการใช้ประโยชน์เหมือนๆกัน แต่มีชื่อพฤกษศาสตร์คนละชื่อ ที่น่าแปลกก็คือตั้งตุ่น พบในพื้นที่ภาคอิสานของไทยเท่านั้นภาคอื่นจะเป็นชะลูดเสียทั้งหมด ซึ่งคนไทยใช้ชะลูดเป็นเครื่องหอมเป็นยามาแต่โบราณ มีหลักฐานปรากฏชื่อของ “ชะลูด”ในกำศรวลศรีปราชญ์ สันนิษฐานว่าแต่งในช่วงแผ่นดินพระไชยราชา(พ.ศ. 2077-2089)หรือก่อนหน้านั้น

ตั้งตุ่นอยู่ในวิถีชีวิตของคนอิสานในอดีต เพราะคนอิสานชอบไปวัดทำบุญ สิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้คือเครื่องหอมที่ใช้บูชาพระ ตั้งตุ่นเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการทำธูป โดยจะลอกเอากาบด้านมาผึ่งแดดให้แห้ง นำมาป่นให้ละเอียด ผสมกับเปลือกต้นบง (มียางเหนียว) ที่ตากแห้งป่นให้ละเอียดแล้วเช่นกัน แล้วนำก้านธูปมาคลุกจะได้ธูปหอมบูชาพระ นอกจากนั้นยังมีการนำเอาเปลือกด้านในที่ตากแห้งแล้วของตั้งตุ่นไปอบเสื้อผ้าให้มีกลิ่นหอม นำไปเคี่ยวกับน้ำกะทิทำเป็นยาดม หรือนำไปผสมใส่ในเครื่องหอมอื่นๆเช่นเดียวกันกับชะลูดที่ใช้ในการใช้ได้ทั้งสด และแห้ง นำมาอบผ้า ให้กลิ่นหอมจรุงใจที่ติดทนนานหรือแต่งกลิ่นแป้งร่ำ น้ำอบ น้ำปรุง ดอกของทั้งตั้งตุ่นและชะลูดแม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็หอมชื่นใจและใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องหอมเช่นกัน

ตั้งตุ่น ยาดีของสตรีอิสาน

นอกจากจะเป็นเครื่องหอมที่ทำให้ผู้หญิงมีอำนาจในการจัดการสังคมแล้ว ตั้งตุ่นยังเป็นยาบำรุงที่ดีโดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง ซึ่งได้รับคำยืนยันจากพ่อหมอและแม่หมอยาเมืองเลย เพียงแต่นำเถาไปต้มกินเท่านั้น ผู้หญิงจะเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล ขึ้นมาทันตาเห็น ตั้งตุ่นยังรักษาอาการตกขาวในผู้หญิง ซึ่งอาจเป็นเพราะชะลูดบำรุงร่างกายให้แข็งแรง นอกจากนี้ตั้งตุ่นอาการปวดประจำเดือนหรือการปวดท้องโดยทั่วไป ท้องอืดแน่นมีลมในท้อง อาการอ่อนเพลีย หงุดหงิด จะหายเป็นปลิดทิ้งถ้าได้กินยาต้มจากรากหรือเถาของตั้งตุ่น ตั้งตุ่นยังเป็นสมุนไพรที่ดีในการเป็นยาแก้ไข้ แก้เหน็บชา ยาขับลม แก้ปวดเมื่อยจากการทำงานหนัก แก้กษัยเส้นหรือยาบำรุงร่างกาย สามารถใช้ตั้งตุ่นต้มกินอย่างเดียวหรือต้มรวมกับสมุนไพรอื่นก็ได้

ยารักษาเอดส์ของพ่อประกาศ ใจทัศน์

ในช่วงที่มีการระบาดของโรคเอดส์ใหม่ๆราวสิบปีที่ผ่านมา หมอยาอิสานหลายท่านต่างก็พยายามประยุกต์ใช้ความรู้ของตัวเองเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่เจ็บป่วยด้วยโรคนี้ แต่เดิมนั้นหมอยาอิสานจะใช้ตั้งตุ่นและรากเอนอ้าขาว เอนอ้าแดงต้มกินแก้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และอาการตกขาว พ่อประกาศ ใจทัศน์ หมอยาสมุนไพรแห่งบ้านน้อมเกล้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธรได้ใช้ตั้งตุ่น กับรากเอนอ้าขาวและเอนอ้าแดง ให้ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่มารับการรักษากับท่าน ท่านยืนยันว่าคนไข้เหล่านั้นถ้างดอาหารแสลงได้ กินยาตัวนี้แล้วสามารถกลับไปทำงานได้ปกติเหมือนคนทั่วไป

ตัวอย่างตำรับยาจาก ชะลูด(ตั้งตุ่น)

ตำรับยา สำหรับผู้ป่วยเอดส์ และตกขาว (ของพ่อประกาศ ใจทัศน์)

​นำรากเอนอ้าขาว เอนอ้าแดง เถาตั้งตุ่น อย่างละเท่ากันกำได้ 1 กำมือ ต้มกับน้ำประมาณ 1 กา (ลิตรครึ่ง) ต้มหลังจากเดือดไปประมาณ 15 นาที ดื่มน้ำกินครั้งละ 1 แก้ว เช้า เย็น เติมน้ำต้มต่อไปได้ทุกวันจนยาจืด(ประมาณ 5 วัน) กินติดต่อกันเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ส่วนผู้ป่วยตกขาวถ้าหายตกขาวก็หยุดยาได้

ขะลำ (ข้อควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด)

ห้ามกิน เป็ด ไก่ฟาร์ม สุรา ปลาสวาย ปลาไหล เต่า ตะพาบน้ำ มะละกอ หน่อไม้ อาหารทะเล อาหารดิบ ไข่ อาหารใส่ชูรส

ตำรับยา บำรุงร่างกายและแก้ปวดประจำเดือน ปวดท้อง(ตำรับของตาวิน ยายผาด)

​เถาของตั้งตุ่น ขนาด 1 กำมือ ต้มน้ำ ประมาณ 1 ลิตรครึ่ง ต้มเดือดประมาณ 15 นาที กินเช้า เย็น

ตัวอย่างตำรับเครื่องหอมจากตั้งตุ่นหรือชะลูด

นวดหอม(ตาวิน)

-นำดอกตั้งตุ่นหรือเปลือกตำเอานำมาคั้นน้ำเคี่ยวกับกะทิจนเป็นก้อน  นำไปใส่ตลับ ใช้ดมแก้หวัดหรือคัดจมูก ดมแล้วโล่ง

ตำรับซักผ้าหอมด้วยตั้งตุ่นหรือชะลูด

​การซักผ้าให้หอม  เป็นวิธีหนึ่งของหญิงไทยสมัยโบราณ จะมีชะลูดเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดกลิ่นหอมติดทนนาน

ส่วนประกอบ

​1. น้ำสะอาด​10 ลิตร

​2. ลูกซัดคั่วแล้ว​  1  ถ้วยตวง

​3. เปลือกตั้งตุ่นหรือชะลูด​  1  กำมือ

​4. ใบเตยหอม 10-15 ใบ เพื่อความหอมของใบเตยเป็นพื้น

วิธีทำ

​ต้มน้ำให้เดือด  ใส่เปลือกตั้งตุ่น(ชะลูด)  ใบเตยตัดเป็นท่อนยาว 2 นิ้ว  ลูกซัดที่คั่วแล้ว ต้มจนเกิดกลิ่นหอมยกลงกรองเอาแต่น้ำไปซักผ้า อย่าต้มนาเพราะสีของชะลูดและลูกซัดจะออกมากทำให้เกิดสีเหลืองเข้มสำหรับผ้า   ที่จะนำมาซักให้หอมนั้นต้องซักและทำความสะอาดมาแล้ว  จึงนำมาแช่ในน้ำหอมที่ต้มเอาไว้  แช่ผ้าทิ้งไว้ประมาณ  15-30 นาที  แล้วบิดให้แห้งนำขึ้นตาก ผ้าที่นำมาซัก  ผ้าควรเป็นผ้าสีเข้ม  ผ้าลาย หรือผ้าถุง ไม่ควรใช้สีอ่อนจะทำให้ผ้ามีสีคล้ำขึ้น ถ้าจะต้มหรือซักผ้าในน้ำร้อนจะใช้ไม้ยาว 2 อัน  ลักษณะคล้ายไม้พลอง บิดผ้าให้แห้งแทนมือได้

สรรพคุณด้านยาไทย

ราก : ใช้เข้าเครื่องยาแก้ลม ขับเสมหะ และแก้ไข้

เปลือกต้น : บำรุงกำลัง

ใบและผล : ใช้แก้ไข้ แก้ปวดมวนท้อง ขับลม โดยการเก็บใบ ควรเก็บพร้อมกันในช่วงที่ดอกกำลังบาน เลือกเก็บใบที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป และเก็บในวันที่มีแสงแดดจ้า แต่ไม่ควรเก็บในช่วงบ่าย

ดอก : รักษาอาการไข้เพ้อคลั่ง แก้สะอึก การเก็บดอกควรเริ่มเก็บเมื่อดอกเริ่มบานหรือเริ่มมีกลิ่นหอมอ่อนๆ

เนื้อไม้ : บำรุงหัวใจ แก้ลม ขับลม

เถา : มีกลิ่นหอมชุ่มชื่น ใช้ผสมทำธูป ทำน้ำอบไทย นำไปอบเสื้อผ้าให้มีกลิ่นหอม และอบเครื่องหอมอื่นๆ หรือใช้ในการแต่งกลิ่นยาสูบ

สรรพคุณด้านสุคนธบำบัด

​มีกลิ่นสดชื่น อบอุ่น และซ่อนกลิ่นของเปลือกไม้ไว้ด้วยมี Saponin และ coumarin ช่วยคลายกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้และมดลูก บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก

เรื่องน่ารู้

  • เปลือกชั้นในหอม ชุ่มชื่น บำรุงกำลัง ใช้ปรุงแต่งผ้าให้มีกลิ่นหอมนำมาอบผ้า กลิ่นติดทนนาน หรือใช้เปลือกต้มกับลูกซัด น้ำน้ำที่ต้มมากต้มกับเสื้อผ้าเสื้อผ้าจะมีกลิ่นหอม และยังใช้ทำธูป แต่งกลิ่นแป้งร่ำ รวมทั้งใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องหอมของไทยมาแต่โบราณ
  • วิธีทำเพื่อให้ได้เปลือกชั้นในของชะลูดเพื่อนำมาเข้ายาหรืออบเสื้อผ้า โดยจะนำเปลือกของชะลูดมาทุบเอาเปลือกชั้นนอกทิ้งไปลอกเอาเนื้อไม้สีขาวมาตากแห้งเก็บไว้ใช้
  • เปลือกชะลูดเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของยาหอมไทย
  • ยอดของชะลูดมีรสชาติออกหวานกินสดๆเป็นผักได้

รายงานวิจัย

  • ในทางเภสัชวิทยามีฤทธิ์ในการคลายกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้และมดลูก นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีอีกด้วย
  • ทุกส่วนของพืชพบสารพวกคูมารินไกลโคไซด์ (caumarin glycoside) ทำให้เกิดกลิ่นหอม

ที่มา บันทึกของแผ่นดิน 3 พืชหอมเป็นยา