วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และแบรนด์ WISHARAWISH (วิชระวิชญ์) เล็งเห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยในงานหัตถกรรมการทอผ้าของคนในชุมชน ที่เป็นการอนุรักษ์ สืบสาน และสร้างสรรค์ จึงได้ดำเนินงานต่อยอดโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2563 เป็นปีที่สอง และจัดแถลงข่าวการแสดงผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบ ณ Art Space ชั้น 8 (River Museum) ไอคอนสยาม เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทย รวมทั้งการสร้างสรรค์ผลงานเครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทย โดยได้ คุณวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์ และเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการแฟชั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายทางศิลปวัฒนธรรมผ่านผ้าไทยไปสู่ชุมชนต้นแบบจากเดิม 7 แห่ง เพิ่มอีก 7 แห่ง รวมเป็น 14 แห่ง
นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประธานการแถลงข่าว กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เล็งเห็นความสำคัญของผ้าไทย ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในงานช่างฝีมือที่สืบทอดกันมา จึงได้ดำเนินงานโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2563 ซึ่งดำเนินงานเป็นปีที่สอง โดยเป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงวัฒนธรรม คือการต่อยอดวัฒนธรรมด้วยการนำคุณค่าของวัฒนธรรม สร้างสรรค์สินค้าและบริการ (Creative Culture) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรม สนับสนุนการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่มีศักยภาพ 5F ในเรื่อง Fashion : การออกแบบและแฟชั่น โดยการบูรณาการและร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งในปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการทั้ง ๗ ชุมชน ประสบความสำเร็จในการนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการไปต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนตนเอง ได้แก่ ๑.การขยายฐานลูกค้าออกไปสู่ต่างประเทศ ๒.มียอดสั่งผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น ๓.การพัฒนาลวดลายบนผืนผ้าใหม่ๆ การวางลายผ้าให้มีความทันสมัย ไม่ดูเฉย มีความโดดเด่นเพิ่มมูลค่าให้กับผลงาน ๔.ได้รับเชิญเข้าร่วมงานแสดงเครื่องแต่งกายในงานแฟชั่นในต่างประเทศ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสาธารณรัฐออสเตรีย ๕.ต่อยอดกับเทคโนโลยี เกิดเป็นนวัตกรรมเส้นใยผ้า ส่งผลให้ผ้ามีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ อาทิ กำจัดและปกป้องกลิ่นกาย ป้องกันรังสียูวี เนื้อผ้าไม่ยับง่าย ดูแลรักษาง่าย สวมใส่สบาย ๖.มีรายได้ทั้งจากงานหัตกรรมและนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ้ามิติผ้าไทย
ส่วน ๗ ชุมชนใหม่ที่ได้รับการคัดเลือก ในปี ๒๕๖๓ ได้แก่ ชาคราฟท์ จังหวัดแพร่ ผ้าซาโลมา ปาเต๊ะ จังหวัดนราธิวาส ไฑบาติก จังหวัดกระบี่ ร้านฝ้ายเข็น จังหวัดอุบลราชธานีบ้านหนองอีบุตร จังหวัดกาฬสินธุ์ ฉัตรทองไหมไทย จังหวัดนครราชสีมา และฅญา บาติก นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งทั้ง ๗ ชุมชนล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์มีทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางด้านเศรษฐกิจ อาทิ เอกลักษณ์ในเรื่องการทอผ้า การออกแบบลายผ้า เส้นใยผ้า ตลอดจนวัสดุธรรมชาติต่างๆที่มีในท้องถิ่น ที่นำมาใช้ทอผ้า เช่น กลุ่มชาครฟท์ จังหวัดแพร่ ที่รักในงานหัตกรรม (Craft) ที่นำเอาทุนทางวัฒนธรรมที่มีในท้องถิ่น และภูมิปัญญาดั้งเดิมของเมืองแพร่ในการย้อมสีธรรมชาติ เช่น ฮ่อมและครามบริสุทธิ์ นำมาผสมผสานการออกแบบที่ร่วมสมัยผ่านบล็อกไม้และเทคนิคใช้เทียนในการสื่ออกมาบนผืนผ้าได้อย่างสวยงาม มีคุณค่าเหมาะที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลาหลาย เรียกว่า “หม้อฮ่อมเขียนเทียน” ที่บ่งบอกถึงกลิ่นอายความเป็นล้านนาและสืบทอดกันมาช้านานของชาวเมืองแพร่
ในปีนี้แบรนด์ “WISARAWISH” โดดเด่นด้วยการนำเสนอนวัตกรรมเส้นใยที่เรียกว่า ฟิลาเจน (FILAGEN) คือการสกัดคอลลาเจนจากเกล็ดปลาทะเลที่มีคุณสมบัติพิเศษ 4 ประการ ได้แก่ รักษาความชุ่มชื้นแก่ผิวพรรณ กำจัดและปกป้องกลิ่นกาย ป้องกันรังสียูวี เนื้อผ้าไม่ยับง่ายและให้อุณหภูมิผิวสัมผัสรู้สึกเย็นสบายเวลาสวมใส่ ซึ่งผ้าของ คอตตอน ฟาร์ม จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำฟิลาเจนมาทอผสมกับผ้าฝ้ายที่ทางร้านผลิต และนำมาตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบในครั้งนี้ โดยอีก 1 นวัตกรรม คือ นาโนซิงค์ (Nanozinc) กระบวนการการผสมผสานระหว่าง นาโนเทคโนโลยีและเทคโนโลยีสิ่งทอ โดยการฉีดเส้นใย หรือ Polymerization แทนการเคลือบ ทำให้สารเคมีไม่หลุดเข้าสู่ร่างกายและสิ่งแวดล้อม ส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค คุณสมบัติของเส้นใยนาโนซิงค์ คือ การลดการสะสมของแบคทีเรียในเนื้อผ้า หรือแอนติแบคทีเรีย บาติกเดอนารา จังหวัดปัตตานี ได้นำเส้นใยดังกล่าวมาผลิตเป็นผ้าบาติก และตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายต้นแบบในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาและช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษา เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสร้างความมั่นคงผ่านแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมภายในชุมชน/กลุ่มที่ทอผ้า/ผู้ประกอบการ ทั้ง ๑๔ ชุมชน ได้แก่ ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ จุฑาทิพย์ ผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข จังหวัดขอนแก่น ไหมแต้มหมี่ กลุ่มสตรีทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น ผ้าขาวม้า อิมปานิ จังหวัดราชบุรี ผ้าฝ้ายทอมือ คอตตอนฟาร์ม จังหวัดเชียงใหม่ เรือนไหมใบหม่อน จังหวัดสุรินทร์ บาติกเดอนารา จังหวัดปัตตานี ชาคราฟท์ จังหวัดแพร่ ผ้าซาโลมา ปาเต๊ะ จังหวัดนราธิวาส ไฑบาติก จังหวัดกระบี่ ร้านฝ้ายเข็น จังหวัดอุบลราชธานีบ้านหนองอีบุตรจังหวัดกาฬสินธุ์ ฉัตรทองไหมไทย จังหวัดนครราชสีมา และฅญา บาติก นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาให้สามารถดำเนินการทอผ้า และสร้างสรรค์ผ้าไทยให้มีความแปลกใหม่ ไปตามกระแสของวงการแฟชั่นที่ไม่เคยหยุดนิ่ง รวมไปถึงยังเป็นการสืบสาน ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี นำไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านมิติผ้าไทย ซึ่งเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่มาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจบนรากฐานของวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนให้อยู่คู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน
สำหรับกิจกรรมที่จะดำเนินการในลำดับถัดไป ประกอบด้วย การแสดงผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบในรูปแบบแฟชั่นโชว์ ในวันที่ 9 มีนาคม 2563 ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเสวนาวิชาการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ระหว่างวันที่ 11 – 12 มีนาคม 2563 ณ โรงแรมโฟร์วิงส์ สุขุมวิท 26 กรุงเทพฯ และนิทรรศการเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากชุมชน/กลุ่มที่ทอผ้า/ผู้ประกอบการ และการจัดแสดงผลงานเครื่องแต่งกายจากผ้าไทยต้นแบบ ระหว่างวันที่ 19 – 22 มีนาคม 2563 บริเวณ Art Space ชั้น 8 River Museumไอคอนสยาม กรุงเทพฯ