สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิจิตรหนุนสหกรณ์ส่งเสริมสมาชิกปลูกพริกซอสส่งขายโรงงาน รับซื้อราคาประกัน มีรายได้มั่นคงหวังปลดหนี้มีเงินเก็บออม

ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้กำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตร การส่งเสริมอาชีพที่จะช่วยสร้างรายได้เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรได้  ซึ่งสหกรณ์จะต้องเพิ่มบทบาทของการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิก สนับสนุนให้ผลิตสินค้าที่ตลาดมีความต้องการและสหกรณ์  ทำหน้าที่ในการรวบรวมผลผลิต พร้อมทั้งประสานตลาดปลายทางมารับซื้อในราคาที่เป็นธรรม

นางสาวไพรินทร์ สุขเล็ก  สหกรณ์จังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า ทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิจิตรได้ร่วมขับเคลื่อนนโยบายสร้างรายได้ปลดหนี้ช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ โดยร่วมมือกันสามฝ่าย ทั้งภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์จากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิจิตร สหกรณ์การเกษตรในพื้นที่จังหวัดพิจิตร และภาคเอกชนคือบริษัทศราวุฒิการเกษตร ซึ่งเป็นเอกชนที่รับซื้อพริกซอสป้อนโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ทำโครงการส่งเสริมอาชีพปลูกพริกซอสเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ โดยมีสหกรณ์ 3 แห่งเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ สหกรณ์ชาวนาวังทรายพูน จำกัด  สมาชิก 82 ราย พื้นที่ปลูกพริกซอส 212 ไร่   สหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด สมาชิก 17 ราย พื้นที่ 36 ไร่  และสหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด สมาชิก 10 ราย พื้นที่ 19 ไร่

ก่อนเริ่มโครงการ สหกรณ์จะคัดเลือกสมาชิกที่มีความพร้อม สหกรณ์จะสนับสนุนเงินทุนและปัจจัยการผลิต และมีการควบคุมคุณภาพ โดยบริษัทผู้รับซื้อจะส่งเจ้าหน้าที่ด้านการเกษตรเข้ามาให้ความรู้ในการเพาะปลูกพริก ตั้งแต่การเตรียมแปลงปลูก ด้วยการปรับหน้าดินแล้วยกร่อง ใช้ระบบน้ำหยดวางท่อฝังในดินบริเวณโคนต้นพริก  จากนั้นจึงเตรียมเพาะต้นกล้า การใส่ปุ๋ย การดูแลรักษาไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ระหว่างการเพาะปลูก ซึ่งต้องใช้เวลา 3 เดือน จนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และใช้ระบบน้ำหยดต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 25,000 บาท/ไร่ ซึ่งฤดูกาลผลิต ที่เหมาะสมกับการปลูกคือตั้งแต่เดือนกันยายน – ตุลาคม และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 2 รุ่นใน 1 ฤดูกาลผลิต  โดยจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนธันวาคม จนถึงเมษายนของทุกปี  และพริกซอสเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย เหมาะสำหรับการปลูกหลังฤดูทำนา

แต่ละปีเอกชนต้องการพริกเป็นวัตถุดิบผลิตซอสประมาณ 2 ล้านกิโลกรัม ซึ่งการส่งเสริมสมาชิกสหกรณ์ปลูกพริกเพื่อสร้างรายได้ ทางเอกชนจะใช้ระบบ Contact Farming มีการทำข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้าและรับซื้อ ในราคาประกัน  พริกพันธุ์ศรีสุดา รับซื้อ 14 บาท/กก. ส่วนพันธุ์ซุปเปอร์ฮอท รับซื้อ 33 บาท/กก. ผลผลิตพริกเฉลี่ยประมาณ 5,000 – 12,00 กก./ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายพริก 56,000 บาท/ปี หรือ 140,000 บาทต่อฤดูกาลผลิต ซึ่งนับว่ารายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเทียบกับการทำนา จากเดิมที่เกษตรกรทำนาปลูกข้าวนาปี ปีละ 1 ครั้ง หลังเสร็จสิ้นฤดูทำนา เกษตรกรจะออกไปรับจ้างทั่วไป ซึ่งรายได้ไม่เพียงพอ ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสิน ทั้งกู้เงินจากสหกรณ์ที่ตนเองเป็นสมาชิกและกู้หนี้นอกระบบ เมื่อเกษตรกรมีรายได้ไม่พอใช้หนี้ ก็กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์  มีหนี้ค้างชำระของสมาชิกจำนวนมาก ส่งผลต่อสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ด้วย แต่เมื่อมีโครงการส่งเสริมการปลูกพริกสร้างรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์นี้เข้ามา ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้นและยังมีเงินเหลือพอส่งชำระหนี้คืนสหกรณ์

ด้านนายอัครวินท์ เกษวิริยะการ ประธานสหกรณ์ชาวนาวังทรายพูน จำกัด เปิดเผยว่า สหกรณ์ได้ประชุมสมาชิกเพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดในการประกอบอาชีพ ปลูกพืชผักที่ตลาดต้องการเป็นอาชีพเสริม นอกเหนือจากการที่ปลูกแต่ข้าวอย่างเดียวมาตลอด และเมื่อสหกรณ์เข้าร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพปลูกพริกซอสกับทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิจิตรและบริษัทเอกชน ได้มีการวางแผนในการผลิตและการตลาดอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดราคารับซื้อที่ชัดเจน ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารับซื้อพริกทุกเมล็ดที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจที่จะลองหันมาปลูกพริกส่งให้สหกรณ์รวบรวมและขายกับบริษัทเอกชน ซึ่งทำแล้วคุ้มกับการลงทุน ความเป็นอยู่ของสมาชิกดีขึ้น มีผลกำไรและรายได้เพิ่มขึ้น สามารถทยอยใช้หนี้คืนสหกรณ์ได้ครบทุกราย เป็นโครงการที่ช่วยปลดล๊อคหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ได้อย่างดี  และโครงการส่งเสริมการปลูกพริก นอกเหนือจากการเกษตรกรที่มีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านในชุมชนด้วย เพราะเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว จะมีการจ้างแรงงานในพื้นที่เป็นคนเก็บพริกและเด็ดขั้วพริก โดยให้ค่าจ้างกก.ละ 2 บาท แต่ละวันชาวบ้านจะมีรายได้จากการเก็บพริกเฉลี่ย 300 – 400 บาท

ในอนาคตทางสหกรณ์ยังมีแผนที่จะขยายการส่งเสริมสมาชิกปลูกพืชผักชนิดอื่น ๆ ที่ตลาดต้องการ ทั้งกะหล่ำปลี มะเขือยาว มะเขือพวง  โดยได้วางแผนการผลิต ลงมือปลูกในเดือนมิถุนายน เพื่อเก็บผลผลิตเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม จากนั้นเมื่อตัดกะหล่ำปลีเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเลี้ยงปลูกแขนงอีก 20 วัน ก็จะตัดแขนงขายได้อีก จากนั้นในเดือนสิงหาคม สหกรณ์จะเริ่มประชุมสมาชิกเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกพริกซอสต่อทันที ซึ่งจะทำให้เกษตรกร มีรายได้ตลอดทั้งปี

ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ สหกรณ์และเอกชน ในการส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ จะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรในดีขึ้นกว่าเดิม และแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของสหกรณ์ เมื่อหันกลับมาทำธุรกิจการรวบรวมผลผลิตการเกษตรเป็นภารกิจหลัก และดูแลเกษตรกรตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว จนถึงจัดหาตลาดมารับซื้อ นอกจากจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกดีขึ้นจากเดิมแล้ว ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาของสมาชิกที่มีต่อสหกรณ์กลับคืนมาอีกด้วย