กรมส่งเสริมการเกษตรต่อยอด “โมเดลการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่” ปี 2563 มุ่งขยายผลสู่พื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ สระบุรีพร้อมติวเข้มนักส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ขับเคลื่อนงานมุ่งกระจายรายได้สู่ชุมชน ครอบคลุมทุกมิติงานส่งเสริมทั้งด้านคน พื้นที่ และสินค้า
นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรีว่า การผลักดันงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่นับเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยพัฒนาภาคเกษตรไทยไปสู่ความมั่นคงและเข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบบูรณาการ โดยชุมชนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมวางแผน ร่วมลงมือทำ และร่วมรับประโยชน์ โดยในปี 2563 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรวางเป้าหมายขยายผลการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ 77 จังหวัด จังหวัดละ 1 จุดทั่วประเทศ พร้อมแจ้งให้สำนักงานเกษตรจังหวัดขับเคลื่อนการดำเนินงาน รวมทั้งพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรให้มีความรู้ ความเข้าใจรูปแบบกระบวนการทำงาน ด้วยการสร้างคณะทำงานและเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกัน สำหรับสำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรีกำหนดจุดดำเนินการในพื้นที่อำเภอละ 1 จุด รวม 13 จุด โดยให้เจ้าหน้าที่จากทุกกลุ่มงานของจังหวัดและอำเภอร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของพื้นที่เป้าหมายและเตรียมความพร้อมก่อนลงพื้นที่วิเคราะห์ชุมชน ยึดหลักการทำงานส่งเสริมการเกษตรด้วยระบบ T&V System และ MRCF วิเคราะห์คน พื้นที่ สินค้า ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในการพัฒนา (Area Base) โดยบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกลไกการทำงานส่งเสริมการเกษตรในลักษณะรายบุคคล (Individual Approach) การส่งเสริมแบบกลุ่ม (Group Approach) และการส่งเสริมรายสินค้า (Commodity Approach) เพื่อกระจายผลประโยชน์สู่ชุมชน ตามนโยบายตลาดนำการเกษตร
ด้านนางจุไรรัตน์ แสงสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า การดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี ได้มีการสนับสนุนกิจกรรมแปลงส่งเสริมการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง บริเวณโครงการอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้มีการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำ ไม่มีที่ดินทำกิน การบริหารจัดการ และการตลาดให้แก่เกษตรกร โดยขออนุญาตใช้พื้นที่บางส่วนจากกรมชลประทานดำเนินการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ให้ผลตอบแทนสูง และกรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปสนับสนุนให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มผลิตหน่อไม้ฝรั่ง มีการส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน GAP ทำให้สามารถส่งออกหน่อไม้ฝรั่งไปต่างประเทศ และรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหน่อไม้ฝรั่ง รวมกันขายผลผลิตช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนกิจกรรมการสร้างเครือข่ายของเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer : YSF) ให้เกษตรกรเข้าไปเรียนรู้เทคโนโลยี ณ สวนบิ๊กเต้ (สวนเบญจมาศ) ของนายกิตติคุณ พรหมพิทักษ์ ตำบลหนองย่างเสือ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี พื้นที่กว่า 100 ไร่ ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีบังคับให้ดอกเบญจมาศออกดอกตลอดทั้งปี มาปรับใช้ในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยจัดทำเป็นสวนดอกเบญจมาศหลากหลายสายพันธุ์และสีสัน ส่งจำหน่ายตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดทางภาคอีสานบางส่วน ช่อละ 60-100 บาท รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมสวนโดยเก็บค่าเข้าชมคนละ 20 บาท สามารถชมสวนดอกเบญจมาศและถ่ายรูปกับดอกไม้ พร้อมชมทิวทัศน์ธรรมชาติบนหุบเขา สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและคนในท้องถิ่น
นายอนุชาติ ศรีดาวฤกษ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหน่อไม้ฝรั่งบ้านตะพานหิน หมู่ที่ 5 ตำบลคำพราน อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2562 ที่ผ่านมา ได้รับการอบรมถ่ายทอดความรู้และจัดทำแปลงส่งเสริมการผลิต จากกรมส่งเสริมการเกษตรและสำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรีสนับสนุนพันธุ์ ระบบน้ำ และวัสดุการเกษตร จำนวน 10 ราย ๆ ละ 1 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด 10 ไร่ มีการเชื่อมโยงตลาดกับบริษัท หลี่ฉาง จังหวัดราชบุรี ผู้ส่งออกหน่อไม้ฝรั่งสู่ประเทศไต้หวัน โดยรับซื้อ เกรด A ราคา 60 บาท/กิโลกรัม เกรด B ราคา 30 บาท/กิโลกรัม เกรด C ราคา 20 บาท/กิโลกรัม ทำให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้เฉลี่ย 480 บาท/วัน/ราย/ไร่ สร้างรายได้ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เป็นเงินเฉลี่ย 144,000 บาท/เดือน และยังมีเกษตรกรที่ต้องการขยายพื้นที่ปลูกและสนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรได้เจรจาขอใช้พื้นที่กรมชลประทานบริเวณอ่างเก็บน้ำดังกล่าวกับนายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 จังหวัดลพบุรี เพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำได้ใช้ประโยชน์ที่ดิน และน้ำเพื่อการเกษตร ในการนำร่องปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนสูงสร้างรายได้แก่เกษตรกร เบื้องต้นได้รับการตอบรับอนุญาตและขอให้กรมฯ เสนอโครงการเข้าไป พร้อมกันนี้รองอธิบดีฯ ได้ให้ข้อแนะนำเรื่องการทำเกษตรอย่างยั่งยืน การทำเกษตรแบบผสมผสานแก่เกษตรกร โดยปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกให้มีการหมุนเวียนสร้างรายได้รวมทั้งการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าด้วย
สำหรับการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ เป็นอีกกลไกสำคัญของกรมฯ ที่ต้องการส่งเสริมเกษตรกรไทยให้มีความเข้มแข็งและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น รูปแบบการดำเนินการมุ่งพัฒนาต่อยอดและใช้กลไกที่มีอยู่เดิม อาทิ ระบบการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ Young Smart Farmer และวิสาหกิจชุมชน โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรได้รับการส่งเสริมและพัฒนา สามารถคิดเป็น พึ่งพาตนเองได้ อาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ยึดพื้นที่เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและสนับสนุนตามความต้องการของพื้นที่ทั้งในเรื่ององค์ความรู้ ทรัพยากร และงบประมาณ มีการวิเคราะห์ข้อมูลของพื้นที่อย่างรอบด้านเพื่อค้นหาศักยภาพและปัญหาของชุมชนที่แท้จริง จากนั้นจึงจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรของชุมชนขึ้นมาให้สอดคล้องกับทุน ทรัพยากรของพื้นที่ พร้อมทั้งจัดเวทีชุมชน เพื่อให้เป็นพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงกลไกการทำงานผ่านการส่งเสริมการเกษตร ซึ่งผลสำเร็จของโครงการนี้เชื่อว่าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีการขยายผลความสำเร็จไปสู่พื้นที่อื่นต่อไป
**********************************
อัจฉรา : ข่าว, กุมภาพันธ์ 2563
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร