‘พาณิชย์’ หารือสภาหอการค้าฯ ไม่กังวลสงครามการค้า
เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสส่งออกแทนที่ตลาดที่ถูกขึ้นภาษี
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับภาคเอกชนกลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา จีน และการตอบโต้ทางการค้าของประเทศอื่นๆ รวมทั้งสหภาพยุโรป ทั้งนี้ แม้ว่าความขัดแย้งทางการค้าดังกล่าวจะไม่มีเป้าหมายที่จะโจมตีการค้ากับไทยโดยตรง แต่ประเทศข้างต้นล้วนเป็นประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย โดยในเบื้องต้นภาคเอกชนเห็นร่วมกันว่าในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรของไทยน่าจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งได้สร้างโอกาสแก่ไทย ที่จะส่งสินค้าเข้าไปแทนที่สินค้าที่ถูกเก็บภาษี ภาคเอกชนจึงควรเตรียมตัวในเชิงรุกและใช้ประโยชน์ โดยสินค้าที่คาดว่าไทยน่าจะมีโอกาสขยายการส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้น แทนที่สินค้าสหรัฐฯ ที่ถูกจีนขึ้นภาษี ได้แก่ สินค้าประมง เช่น กุ้ง ซึ่งคาดว่าจีนอาจนำเข้าจากสหรัฐฯ น้อยลงจากการขึ้นภาษีเพื่อตอบโต้มาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ โดยในปี 2560 จีนมีการนำเข้ากุ้งจากสหรัฐฯ มากเป็นอันดับที่ 3 มูลค่าการนำเข้า 292 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 5 มูลค่าการนำเข้า 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลไม้ เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคจีนให้ความนิยมอย่างมากและไทยมีการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นทุกปี ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เช่น ปลาทูน่าและหอยนางรมบรรจุภาชนะ สิ่งสกัดหรือน้ำคั้นจากปลา ที่ผ่านมาจีนนำเข้าจากไทยมากกว่านำเข้าจากสหรัฐฯ โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 2 มูลค่า 38 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่นำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 8 มูลค่า 4.7 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่คาดว่าไทยน่าจะมีโอกาสส่งออกไปกลุ่มประเทศอียูมากขึ้น แทนที่สินค้าสหรัฐฯ ที่ถูกขึ้นภาษี เช่น สินค้าข้าว ในปี 2560 อียูนำเข้าจากข้าวและข้าวหักจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 182.75 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่นำเข้าจากไทยมูลค่า 170.90 สินค้าธัญพืชและข้าวปรุงแต่ง ในปี 2560 อียูนำเข้าจากไทยมูลค่า 9.82 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 1.59 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น การที่อียูประกาศขึ้นภาษีข้าว ธัญพืชและข้าวปรุงแต่งจากสหรัฐฯ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกไปอียูได้เพิ่มมากขึ้นด้วย เพื่อทดแทนปริมาณการนำเข้าเดิมจากสหรัฐฯ
นายสนธิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการหารือนี้ ภาคเอกชนได้มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐพิจารณาให้ความช่วยเหลือในประเด็นต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน และเตรียมรับมือสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งเสนอให้เร่งการเจรจา FTAs เพื่อเปิดตลาดใหม่และสร้างโอกาสในการส่งออกให้แก่สินค้าไทย เช่น ความตกลงการค้าเสรีไทย–อียู เป็นต้น
นายสนธิรัตน์ เน้นย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์จะติดตามมาตรการตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ จีน และประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด และขอให้วางใจว่า กรมต่างๆ ในกระทรวงพาณิชย์จะทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อผลักดันการส่งออกของไทยไปยังประเทศที่เป็นกลุ่มตลาดเก่าและตลาดใหม่ พร้อมทั้งเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศของมหาอำนาจในโลก โดยจะติดตามเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการนำเข้า ซึ่งหากเห็นว่าอุตสาหกรรมมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ ที่ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนทางการค้า โดยมีสินค้าเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น หรือสินค้าที่ทุ่มตลาดเข้ามา เอกชนสามารถประสานแจ้งกระทรวงพาณิชย์ให้พิจารณานำมาตรการทางการค้าที่เหมาะสมมาใช้ อาทิ มาตรการปกป้องทางการค้า มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด
———————————–
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทัพผู้บริหาร และสภาเกษตรกรแห่งชาติ
รับทราบสถานการณ์ลำไยเมืองเหนือ แนะแนวทางกันลำไยล้นตลาด พร้อมชี้ช่องส่งออกผ่าน FTA
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2561 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรชาวสวนลำไยมัดปุ๊ก บ้านร้องขุด อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ โดยมีกรมการค้าภายใน และพาณิชย์จังหวัดร่วมคณะด้วย ซึ่งกลุ่มเกษตรกรชาวสวนลำไยมัดปุ๊ก เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกลำไยแปลงใหญ่ มีการบริหารจัดการแบบกลุ่ม เพื่อพัฒนาผลผลิตและการตลาด อีกทั้งยังเป็นผู้รวบรวมรับซื้อลำไยในพื้นที่ มีการรับซื้อเฉลี่ยวันละ 30 -50 ตัน เพื่อจำหน่ายในประเทศ เช่น ตลาดไอยรา และตลาดไทย พร้อมทั้งส่งออกไปประเทศมาเลเซีย และจีน โดยปัจจุบัน มีสมาชิก 110 คน ครอบคลุมพื้นที่ 500 ไร่ มีสวนลำไยที่ได้มาตรฐาน GAP 70 แปลง และกำลังพัฒนาให้เป็นเกษตรอินทรีย์
ในการลงพื้นที่ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตและการส่งออกลำไยภาคเหนือ มุ่งป้องกันลำไยล้นตลาดในปี 2561 ซึ่งนายสนธิรัตน์ ได้สร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร ด้วยการประกาศมาตรการบริหารจัดการลำไยสดสำหรับปีนี้ ได้แก่ (1) ผลักดันลำไยผลสดออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย จีน และตลาดที่มีคนเอเชียอาศัยอยู่ (2) ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยกระจายลำไยออกนอกจังหวัดแหล่งผลิต เป้าหมาย 5,000 ตัน ผ่านตลาดประชารัฐ โมเดิร์นเทรด สถานีบริการน้ำมัน และไปรษณีย์ไทย (3) สนับสนุนการแปรรูปลำไยเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งรัฐจะช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และ (4) รณรงค์และประชาสัมพันธ์การบริโภคลำไยในประเทศ เช่น การจัดเทศกาลผลไม้ โดยกระทรวงฯ ได้ทำงาน เชิงรุก และเร่งดำเนินมาตรการหลายส่วนไปแล้ว ซึ่งเชื่อมั่นว่า ปีนี้ กระทรวงฯ จะบริหารจัดการลำไยสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งไม่มีความกังวลต่อผลกระทบจากมาตรการห้ามนำเข้าลำไยของอินโดนีเซียในช่วงกรกฎาคมถึงสิงหาคม และย้ำให้เกษตรกรรักษาคุณภาพของสินค้า และพยายามรวมกลุ่มกันเพื่อลดการพึ่งพาล้ง
นายสนธิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA มองหาตลาดส่งออกศักยภาพอื่นๆ นอกเหนือจากอินโดนีเซีย โดยกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นแนวหน้าเจรจาผลักดันให้คู่ค้าเปิดตลาดและลดภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย เพื่อเป็นการขยายโอกาสในการส่งออก โดยในช่วงที่ผ่านมาไทยประสบความสำเร็จในการจัดทำ FTA ซึ่งปัจจุบัน ไทยมี FTA รวม 12 ฉบับ กับคู่ภาคีรวม 17 ประเทศ และทุกฉบับได้มีการลดภาษีสินค้าลำไยและผลิตภัณฑ์ให้ไทยแล้ว มีเพียงความตกลงไทย–อินเดีย ที่อินเดียมีการยกเลิกภาษีให้แค่สินค้าลำไยสดเท่านั้น ในขณะที่ผลิตภัณฑ์จากลำไย อาทิ ลำไยแช่แข็ง ลำไยอบแห้ง และลำไยกระป๋อง ยังถูกเก็บภาษี MFN คือ ร้อยละ 30 ซึ่งสำหรับคู่ภาคีส่วนใหญ่ ได้มีการยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าลำไยและผลิตภัณฑ์ให้ไทยแล้ว อาทิ ประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนและญี่ปุ่น ที่มีการยกเลิกภาษีสินค้าลำไยสด ลำไยแช่แข็ง และลำไยอบแห้งให้ไทยภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน และความตกลงไทย-ญี่ปุ่น สำหรับความตกลงอาเซียน สมาชิกอาเซียนได้ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าลำไยสด ลำไยแช่แข็ง ลำไยกระป๋อง และลำไยอบแห้งให้ไทยหมดแล้วเช่นกัน ยกเว้น ลาว ที่มีการเก็บภาษีลำไยอบแห้งที่ร้อยละ 5 ดังนั้น ตอนนี้ไทยสามารถส่งลำไยไปขายในประเทศอาเซียน จีน และญี่ปุ่น โดยไม่ต้องเสียภาษีแล้ว
ในปี 2560 ไทยส่งออกลำไยสดไปยังตลาดโลกปริมาณ 726,413.99 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,970.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 80.53 โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม (ร้อยละ 55.68) จีน (ร้อยละ 24.93) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 13.48) ฮ่องกง (ร้อยละ 3.66) และมาเลเซีย (ร้อยละ 0.93) ในส่วนของลำไยอบแห้ง ไทยส่งออกไปยังโลกปริมาณ 213,980 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 11,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 31.64 ตลาดส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เวียดนาม (ร้อยละ 67.82) จีน (ร้อยละ 26.64) เมียนมา (ร้อยละ 2.09) ฮ่องกง (ร้อยละ 1.29) และอินโดนีเซีย (ร้อยละ 0.38) สินค้าลำไยกระป๋อง ในปี 2560 ไทยส่งออกไปยังโลกปริมาณ 8,681.89 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 504.56 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.34 ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย (ร้อยละ 36.72) สิงคโปร์ (ร้อยละ 17.32) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 15.35) สหรัฐฯ (ร้อยละ 11.24) และกัมพูชา (ร้อยละ 5.88) และสินค้าลำไยแช่แข็ง ไทยส่งออกไปยังโลกปริมาณ 13.01 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.34 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 56.17 ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง (ร้อยละ 62.66) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 33.62) และมาเก๊า (ร้อยละ 3.72)
____________________________
พาณิชย์’ เดินหน้าเตรียมประกาศใช้มาตรการระยะสั้น
ในการนำเข้ามะพร้าว ช่วยเหลือเกษตรกรไทย
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 และมีมติเห็นชอบการกำหนดมาตรการระยะสั้นช่วง 3 เดือน ในการควบคุมการนำเข้ามะพร้าว เพื่อแก้ไขสถานการณ์ราคามะพร้าวตกต่ำ และช่วยเหลือเกษตรกรไทย โดยมาตรการดังกล่าวจะกำหนดการห้ามนำเข้ามะพร้าวชั่วคราวในช่วงเวลา 3 เดือน (สิงหาคม-ตุลาคม) และจะพิจารณาทบทวนสถานการณ์ว่ายังมีความจำเป็นหรือไม่ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันหารือและติดตามสถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อประกอบการพิจารณาความจำเป็นที่จะต่ออายุมาตรการ
ทั้งนี้ กระทรวงฯ เตรียมประกาศใช้มาตรการนี้ เพื่อให้มีผลทันเวลาในช่วงที่ผลผลิตมะพร้าวในประเทศของไทยยังมีสูงพอเพียงที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าวสามารถใช้ผลผลิตมะพร้าวในประเทศ ซึ่งจะช่วยไม่ให้ผู้ผลิตกะทิเพื่อการส่งออกและบริโภคของไทยได้รับความเดือดร้อน ขณะเดียวกัน จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวของไทยที่เผชิญปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำในช่วงนี้ นอกจากนี้ กระทรวงฯ จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด
ในปี 2560 ไทยนำเข้ามะพร้าวจากทั่วโลกที่ปริมาณ 416,210 ตัน โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยพบวิกฤตการณ์แมลงศัตรูพืชระบาด ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้า อย่างไรก็ตาม ปี 2561 ผลผลิตมะพร้าวในประเทศมีปริมาณออกสู่ตลาดมาก ส่งผลให้ราคามะพร้าวปรับตัวลดลง โดยล่าสุด ราคาอยู่ที่ประมาณ 5-6 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก และจากการนำเข้ามะพร้าว ทำให้มีมะพร้าวนำเข้ามามาก ยิ่งส่งผลกระทบต่อราคาภายในประเทศมากขึ้นด้วย
………………………………………………………..
กระทรวงพาณิชย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ