กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนฯอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะเขื่อนที่มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ พร้อมย้ำทุกโครงการชลประทาน ให้เฝ้าระวังและควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ วอนขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(25 ก.พ. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 41,922 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 18,161 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 35 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 9,980 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 3,284 ล้าน ลบ.ม. ส่วนผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศ ล่าสุด(25 ก.พ. 63) มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 10,575 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 60 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,949 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของแผนฯ
ในส่วนของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณเก็บกักน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ ปัจจุบัน มีจำนวนทั้งสิ้น 18 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่มอก เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนคลองสียัด เขื่อนบางพระ เขื่อนหนองปลาไหล และเขื่อนประแสร์ ซึ่งจะเน้นส่งน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศด้านท้ายเขื่อนเท่านั้น
ด้านผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ปัจจุบัน( ณ วันที่ 19 ก.พ. 62) มีการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 4.02 ล้านไร่ เกินแผนไปร้อยละ 42 เก็บเกี่ยวแล้ว 0.44 ล้านไร่ แยกเป็นข้าวนาปรัง 3.63 ล้านไร่ เกินแผนไปร้อยละ 57 เก็บเกี่ยวแล้ว 0.42 ล้านไร่ และพืชไร่-พืชผักอีก 0.39 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 75 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้ว 0.02 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนเพาะปลูก เนื่องจากปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอต่อการกิจกรรมด้านการเกษตร แต่จากการสำรวจพบว่ามีการเพาะปลูกในพื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 0.19 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งลดลงอย่างต่อเนื่อง การระบายน้ำส่วนใหญ่จะใช้ในการนำไปผลิตประปา และรักษาระบบนิเวศ ตามแผนฯที่ได้กำหนดไว้ในแต่ละเขื่อน ในขณะที่ฤดูแล้งยังเหลือระยะเวลาอีกประมาณ 2 เดือนเศษ จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด และเป็นไปตามแผนฯที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้านี้
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์