“ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา” ชาวบ้าน บ้านป่าแดงงาม ต.กุดแห่ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ใช้สุภาษิตให้คำนิยามวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน เนื่องจากปี 2559 มีชาวบ้านป่วยด้วยโรคเนื้อเน่า และเสียชีวิต จากผลกระทบการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีในพื้นที่ไร่อ้อยอย่างหนัก
“ปกติไม่เคยลงนาแต่วันนั้นลองเอาแหไปหาปลา หลังขึ้นจากน้ำมาประมาณ 2 ชั่วโมง มีอาการคันที่ขา และบวมแดง จากนั้นเปลี่ยนเป็นสีม่วงเพียงชั่วข้ามคืน ไปที่รพ. หมอบอกว่า ถ้ามาช้ากว่านี้อาจต้องตัดขา” ลุงวิไล ใจศรัทธา ชาวบ้านบ้านป่าแดงงาม วัย 62 ปี เล่าอาการเจ็บป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมี
และไม่เฉพาะลุงวิไล แต่ยังมีชาวบ้านอีกหลายรายที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้ บางรายถึงขั้นเสียชีวิต และ ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและควบคุมโรค พบว่าในปี 2558-2560 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เขต 7-10) มีการเจ็บป่วยด้วยโรคจากสารกำจัดศัตรูพืชค่อนข้างสูงรองจากเขตภาคเหนือ (เขต1-13) และการพบอัตราป่วยโรคเนื้อเน่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ โดยในเขต 8 ปี 2560 จังหวัดที่มีอัตราป่วยอันดับ1 คือ เลย อุดรธานี และหนองบัวลำภูเป็นอันดับ 3
ชาวบ้านเริ่มตระหนักถึงปัญหานี้ จนนำมาสู่โครงการพัฒนาระบบอาหารปลอดภัย “จากท้องนา สู่พาข้าว” จ.หนองบัวลำภู ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้มีการจัดเวที โชว์ แชร์ เชื่อม ตอน “สุข 3D ที่หนองบัวลำภู” ที่ศูนย์ปราชญ์พ่อบัวพันธ์ ต.ด่านช้าง อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนงานเกษตรปลอดภัย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาวะของเกษตรกรและผู้บริโภค
ทพญ.วรางคณา อินทโลหิต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนระบบอาหารปลอดภัย จ.หนองบัวลำภู เกิดขึ้นเมื่อปี 2560 เนื่องจากมีเกษตรกรป่วยเป็นโรคเนื้อเน่าเป็นจำนวนมาก จึงทำการสำรวจสภาพปัญหาและปริมาณสารเคมี โดยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยนเรศวร พบระดับการตกค้างของพาราควอตในน้ำผิวดิน น้ำบาดาล ดิน ตะกอนดิน ในระดับสูงถึงสูงมาก เกษตรกรใช้สารกำจัดวัชพืชความเข้มข้นสูงกว่ากำหนด (ผสมเข้มข้นกว่าปกติ 4 เท่า) และในช่วงเวลาที่มีการใช้สารเคมีพบว่า เกษตรกรป่วยด้วยโรคเนื้อเน่าในอัตราสูง จึงเป็นไปได้ว่ามีความสัมพันธ์กัน ต่อมาทางจังหวัดจึงค้นหารูปแบบการดำเนินงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต้นแบบ “บุญทัน Model” ที่มาพร้อมกับแผนปฏิบัติการจัดการปัญหาสารเคมีทางการเกษตรตกค้างในสิ่งแวดล้อมที่ จ.หนองบัวลำภู ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นได้กำหนดให้เป็นนโยบายจังหวัด ด้วยการใช้ความสำเร็จของบุญทันโมเดล เป็นบทเรียนให้ทุกพื้นที่ในจังหวัดปฏิบัติตาม
“สัญญาณเรื่องสุขภาพอันเป็นผลกระทบจากสารเคมีทางการเกษตรในพื้นที่ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 มีเด็ก นักเรียนปั่นจักรยานไปโรงเรียนแค่ผ่านไร่อ้อยถึงขั้นไม่สบาย จึงเริ่มทำเวทีเพื่อสร้างอาหารปลอดภัย จากการเก็บข้อมูลทำให้ทราบว่า ในพื้นที่ของหมู่บ้านมีเม็ดเงินในสารเคมีกับแปลงเกษตรปีละ 100 ล้านบาท แบ่งเป็นใช้เงิน 50 ล้านบาทซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซื้อปุ๋ย และ50 ล้านเป็นค่ายาฆ่าหญ้า ซึ่งสันนิษฐานได้ว่ายาฆ่าหญ้าอาจเป็นสาเหตุหลักของโรคเนื้อเน่า” ทพญ.วรางคณา กล่าว
ด้าน ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวว่า จังหวัดหนองบัวลำภู มีการขับเคลื่อนงานเกษตรปลอดภัยที่มีความโดดเด่น ก่อนปี 2560 มีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชหลายชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต อะมิทรีน และอาทราซีน เกษตรกรใช้สารเคมีเกษตรเฉลี่ย 1.33 ลิตรต่อไร่ แต่หลังจากจังหวัดหนองบัวลำภูได้เริ่มแก้ไขปัญหา ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี โดยมีพื้นที่ต้นแบบคือ ตำบลบุญทัน อ.สุวรรณคูหา และได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจคือ การใช้สารเคมีเกษตรลดลงจาก 1.42 ลิตรต่อไร่ เหลือ 0.56 ลิตรต่อไร่ และถูกกำหนดให้โมเดลนี้ขยายไปทุกอำเภอ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันชาวบ้านจำนวน 35 ครอบครัว บ้านป่าแดงงาม ได้ปรับการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรอินทรีย์ หลายคนประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม อย่าง สุดใจ เลพล วัย 50 ปี หนึ่งในเกษตรกรเคมีที่ผันตัวเอวมาทำเกษตรอินทรีย์ เล่าว่า เธอเป็นคนหนึ่งที่ได้เจ็บป่วยจากการใช้ยาฆ่าหญ้า จึงจัดสรรพื้นที่ปลูกอ้อย มาทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกมะเขือ ผักกาดแก้ว ผักบุ้ง คื่นช่าย แตงโม โดยใช้ปุ๋ยหมักของกลุ่มที่ชาวบ้านร่วมกันทำขึ้น ซึ่งผลิตผลที่ได้จะนำขายในตลาดนัดในหมู่บ้าน แต่ละครั้งมีรายได้ประมาณ 300-400 บาท ซึ่งเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว และสิ่งที่มีค่ามากกว่านั้น คือการที่ครอบครัวได้กินอาหารที่ปลอดภัย และได้แบ่งปันสุขภาพดีให้กับผู้บริโภคอีกด้วย
ขณะที่ ลุงบัวพันธ์ บุญอาจ วัย 75 ปี ผู้ก่อตั้งศูนย์ปราชญ์พ่อบัวพันธ์ อีกหนึ่งพื้นที่ต้นแบบของการทำเกษตรอินทรีย์ ได้ปรับเปลี่ยนบ่อปลา 62 ไร่ เป็นเกษตรอินทรีย์มา 10 ปีแล้ว ปลูกแบบผสมผสาน ทั้งการทำนา การปลูกต้นสัก ขายได้แล้ว มีเงินใช้หนี้หมดแล้วกว่า 2 ล้าน และพื้นที่ใต้ต้นสัก ปลูกผักหวาน ลึกลงไปในดินมีพืชกระชายรอบบ่อปลามีต้นกล้วย หม่อน นอกจากนี้ยังปลูกผักตามฤดูกาล พัฒนาระบบการผลิตจนได้รับได้รับมาตรฐานระดับ Organic Thailand ผลิตส่งขายตามซูเปอร์ มาเก็ตชั้นนำในตัวเมืองและจังหวัดใกล้เคียง
ความสำเร็จของการปรับเปลี่ยนจากเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ของ จ.หนองบัวลำภู เป็นโมเดลความสำเร็จของการทำงานตามบทบาทของสสส. ที่ให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาวะ ไม่เฉพาะเหล้า บุหรี่ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อรื้อรัง หรือโรคเอ็นซีดี แต่การที่สุขภาพต้องเผชิญกับพิษของสารเคมีตกค้างในร่างกายมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเช่นกัน