คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ดำเนินงาน “โครงการส่งเสริมเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยการติดฉลาก” เพื่อส่งเสริมการผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงด้วยการติดฉลาก และส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและวัสดุอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงานให้มีความแพร่หลาย โดยมี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในงาน และมอบฉลากแก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน ณ โรงแรมมิราเคิล กรุงเทพฯ
นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า โครงการส่งเสริมเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยการติดฉลาก เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2550 มีวัตถุประสงค์ เพื่อรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมให้ประชาชนรับรู้และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงอย่างถูกต้อง โดยนำร่องผลิตภัณฑ์แรก คือ เตาหุงต้มในครัวเรือนใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลว และใช้ “ฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง” เป็นเครื่องมือในการส่งเสริม การติดฉลากประสิทธิภาพสูง นอกจากช่วยส่งเสริมให้ประชาชนใส่ใจในการประหยัดพลังงานแล้ว ยังสามารถกระตุ้นให้ผู้ผลิตมีการวิจัยพัฒนาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคและโลกที่เปลี่ยนแปลง จากการดำเนินงานของโครงการที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนฉลากประสทธิภาพสูงอย่างต่อเนื่องทุกปี เป็นผลมาจากความต้องการของประชาชนในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงเพราะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้ นอกจากนี้ พพ.ยังดำเนินการพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานระดับค่าประสิทธิภาพของเครื่องจักร วัสดุและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้สูงขึ้นตามลำดับ
ผศ.บรรยงวุฒิ จุลละโพธิ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของโครงการที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2550-2561 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการส่งเสริมการติดฉลากอย่างต่อเนื่อง และได้เพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์เป็น 19 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1. เตาหุงต้มในครัวเรือนใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลว 2. เตาก๊าซความดันสูง 3. เตารังสีอินฟราเรด 4. เครื่องดูดควันสำหรับเตาหุงต้ม 5. เครื่องทอดแบบน้ำมันท่วม 6. ปั้มความร้อน 7. เครื่องเชื่อมไฟฟ้า 8. อุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์ 9. มอเตอร์เหนี่ยวนำสามเฟส 10. มอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียว 11. เครื่องอัดอากาศขนาดเล็กแบบลูกสูบ 12. เครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กระบายความร้อนด้วยน้ำ 13. เครื่องยนต์แก๊สโซลีนขนาดเล็กระบายความร้อนด้วยอากาศ 14. กระจก 15. ฉนวนใยแก้ว 16. สีทาผนังอาคาร 17. ฟิล์มติดกระจก 18. ชิ้นส่วนคอนกรีตมวลเบา 19. หลังคากระเบื้อง โดยได้ออกฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงรวมแล้วจำนวน 38.7 ล้านใบ ก่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน 740 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 4.6 ล้านตันต่อปี
ในปี 2562 นี้ พพ. ได้ดำเนินการออกฉลากให้กับ 19 ผลิตภัณฑ์ ผลการดำเนินงานมีผู้ประกอบการได้รับฉลากจำนวน 104 ราย ผลิตภัณฑ์รวม 2,402 รุ่น ซึ่งสำหรับปีนี้ พพ. มอบฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงรวม 5.3 ล้านใบ ซึ่งจะส่งผลให้ลดการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวลงได้ 24 ล้านกิโลกรัมต่อปี ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลลงได้จำนวน 586,410 ลิตรต่อปี ลดการใช้น้ำมันเบนซินลงได้จำนวน 5,007,649 ลิตรต่อปี และลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงได้ประมาณ 1,206 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี คิดเป็นพลังงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 135.4 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือคิดเป็นมูลค่าพลังงานที่ประหยัดได้รวม 4,360 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 0.65 ล้านตันต่อปี
สำหรับ “ฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง” นี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ให้สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพสูง และพิจารณาได้ว่าผลิตภัณฑ์มีค่าประสิทธิภาพพลังงานเท่าใด เพื่อใช้เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน โดยสามารถสังเกตได้จาก ตัวเลขที่แสดงค่าประสิทธิภาพของแต่ละผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และมีการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด