1.สถานการณ์ ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ณ เวลา 08.00 น.
1. ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 14 ราย กลับบ้านแล้ว 21 ราย รวมสะสม 35 ราย
2. ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 23 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 1,453 ราย คัดกรองจากสนามบิน 68 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 1,385 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,121 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 332 ราย
3. สถานการณ์ทั่วโลกใน 31 ประเทศ และ 2 เขตบริหารพิเศษ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 24 กุมภาพันธ์ 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 78,997 ราย เสียชีวิต 2,470 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 76,942 ราย เสียชีวิต 2,444 ราย
2. สธ.เผย ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังชาวจีน ที่ รพ.แม่สอดผลการตรวจเป็นลบ อย่าเชื่อข่าวลวง ขณะนี้ทุกด่านยังคงเฝ้าระวังต่อเนื่อง
กระทรวงสาธารณสุขเผยผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ชาวจีนที่โรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก ผลทางห้องปฏิบัติการเป็นลบ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากระทรวงสาธารณสุข อย่าเชื่อข่าวลวง ขณะนี้ทุกด่านยังคงเฝ้าระวังต่อเนื่องนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป พร้อมด้วยนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง ชายชาวจีน ที่เข้ามารักษาที่โรงพยาบาลแม่สอดด้วยอาการโรคระบบทางเดินหายใจนั้น ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 2 แห่งได้ผลเป็นลบ ไม่พบสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังรักษาต่อตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเนื่องจากผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤติจากมีโรคประจำตัวที่มีอยู่เดิม ขณะนี้ทุกด่าน ทั้งบก เรือ อากาศ ด่านธรรมชาติ ยังคงเข้มงวดการเฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทางอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันจำนวน 35 คน กลับบ้านได้แล้ว 21 คน รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 14 คน โดยไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับ 9 ของโลก
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ได้ขยายนิยามการเฝ้าระวัง ปรับเกณฑ์ พื้นที่เสี่ยง อาชีพเสี่ยง กลุ่มอาการปอดอักเสบในบุคลากรทางการแพทย์ ตามสถานการณ์มาโดยตลอด รวม 4 ครั้ง เพื่อให้ตรวจจับผู้อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้ครอบคลุมคนไทยที่กลับจากประเทศระบาดของโรค และเพิ่มพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง ส่วนผู้ป่วยอาการหนักทั้ง 2 รายที่สถาบันบำราศนราดูร รายที่ 1 เป็น ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยพยุงปอด อาการทรงตัวตอบสนองต่อการกระตุ้นได้ดี ส่วนรายที่ 2 ที่ติดเชื้อวัณโรคร่วมด้วย อาการทรงตัวยังคงต้องดูแลโดยคณะแพทย์อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง
ในส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ขณะนี้สามารถตรวจได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 13 แห่ง ทั่วประเทศ และห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลประจำจังหวัดของรัฐ ส่วนกลางสามารถตรวจได้ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันบำราศนราดูร คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอให้ประชาชนมีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง มีไข้ ไอ มีน้ำมูก มีการทางระบบทางเดินหายใจ และมีประวัติเดินทางไปพื้นที่ระบาดของโรค ขอให้รีบพบแพทย์ทันที หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับการติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เชื้อจะอยู่ในละอองฝอยขนาดใหญ่จากการไอ จาม ของผู้ป่วย โดยเชื้ออาจหล่นติดอยู่ตามพื้นผิวสัมผัส เช่น ลูกบิดประตู ปุ่มกดลิฟท์ ราวบันได โต๊ะ ยังไม่ติดต่อจากการฟุ้งกระจายในอากาศ ประชาชนสามารถป้องกันได้ด้วยการ ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปในสถานที่แออัด
ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมรับผิดชอบสังคมด้วยการไม่แพร่เชื้อ ทั้งนี้ คำแนะนำเมื่อประชาชนกลับมาจากพื้นที่ระบาดของโรคที่ขอให้เก็บตัวสังเกตอาการ เป็นเวลา 14 วัน เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้เดินทาง ครอบครัว และสังคม ขอประชาชนอย่าเชื่อ ข่าวลือ เขาเล่าว่า ที่ไม่รู้ต้นทางข่าวไม่มีข้อมูลความจริง คือ การเพิ่มภาระคนทำงานที่หนักอยู่แล้วให้หนักมากขึ้น ช่วยกันหยุดข่าวลือ หยุดส่งต่อข่าวเขาเล่าว่า รับฟังการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุขทุกวันเวลา 11.00 น.
3.ข้อแนะนำประจำวันในการป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น สวมหน้ากากอนามัยแบบผ้าที่สะอาดเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก ผู้ป่วยและผู้ที่มีอาการ ไอ จาม ควรใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ สำหรับหน้ากากอนามัยประเภท N95 จะใช้ในเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษาใกล้ชิดกับผู้ป่วย
4. คำแนะนำสำหรับประชาชน
4.1 ประชาชนที่มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีการรายงานพบผู้ป่วย หลังเดินทางกลับประเทศไทยภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ เจ็บคอ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูกไอ เสมหะ หายใจเร็ว หอบ ให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้
4.2 ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาดและหากจำเป็นต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด ขอให้หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงไปท่องเที่ยวตลาดค้าสัตว์มีชีวิต การสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วย หรือตาย
4.3 ประชาชนทั่วไป ขอให้ดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศแปรปรวน ใช้มาตรการกินร้อนช้อนกลาง
ล้างมือและสวมหน้ากากป้องกันโรคเวลาไอ จาม หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ
***************24 กุมภาพันธ์ 2563